Demand เทียม คือ ความต้องการซื้อที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการซื้อไปใช้จริง ๆ เป็นระดับความต้องการซื้อ (Demand) ที่เกิดขึ้นมาจากการซื้อเพื่อคาดหวังว่าจะนำสินทรัพย์ดังกล่าวไปใช้เก็งกำไรเพื่อขายให้ได้ราคาแพงในอนาคต
แต่ก่อนจะทำความเข้าใจกับ Demand เทียม มาทำความเข้าใจกับ Demand แท้หรือ Demand ในบริบทปกติอย่างที่ควรจะเป็นกันก่อน (ถ้าใครเข้าใจพื้นฐานของ Demand อยู่แล้ว สามารถข้ามไปยังหัวข้อถัดไปด้านล่างได้เลย)
Demand แท้ก็คือ Demand ตามปกติที่หลายคนเคยได้ยินกันมาอยู่แล้ว โดย Demand หรืออุปสงค์ หมายถึง ความต้องการซื้อที่เป็นความต้องการที่ลูกค้าต้องการสินค้าบางอย่าง และด้วยความที่สินค้ามีอยู่อย่างจำกัด ก็จะทำให้ระดับราคาของสินค้าเพิ่มขึ้นตามระดับความต้องการซื้อ (Demand)
หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น ยิ่งเป็นสินค้าที่คนอยากซื้ออยากได้ ในขณะที่สินค้ามีอยู่จำกัด คนก็จะยอมจ่ายเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้สินค้านั้นมา (จนกว่าจะถึงระดับราคาที่คนรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล)
โดยความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวของ Demand จะเห็นได้บ่อย ๆ ในรูปแบบของกราฟ Demand ด้านล่าง
ซึ่งเป็นกราฟที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและความต้องการซื้อ โดยระดับราคาที่จะเพิ่มขึ้นจะทำให้จำนวนความต้องการซื้อสินค้าลดลง เรียกว่ากฎของอุปสงค์ (Law of Demand)

Demand เทียม คืออะไร?
อย่างที่บอกว่า Demand เทียม คือ Demand หรือ ความต้องการซื้อที่ไม่ได้มาจากความต้องการซื้อไปใช้จริง ๆ อย่างเช่น ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด เพื่อนำไปเก็งกำไร ทำให้ในระยะยาวเมื่อ Demand เทียม เพิ่มขึ้น (จากการที่ใคร ๆ ก็ซื้อไปเก็งกำไร) ระดับราคาของอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นตาม
เพราะไม่ว่าจะเป็น Demand แท้ หรือ Demand เทียม ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นความต้องการซื้อ เมื่อความต้องการซื้อมากขึ้นราคาก็จะสูงขึ้นตามกลไกของตลาด
โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Demand เทียม กลุ่มแรกก็คือผู้ที่ต้องการซื้อสินค้านั้นจริง ๆ ที่จะต้องซื้อสินค้านั้นแพงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งก็เป็นผลมาจากที่ราคาสินค้าสูงขึ้นจากนักลงทุนที่แห่เข้ามาซื้อเก็บไว้เก็งกำไร
ตัวอย่าง Demand เทียม
สำหรับตัวอย่าง Demand เทียมที่อธิบายง่ายที่สุดคงหนีไม่พ้นอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดที่เกิด Demand เทียม และมีจุดจบแบบเดิม ๆ มาโดยตลอด
จากการที่นักลงทุนที่คิดแต่จะเก็งกำไรมักจะคิดเข้าข้างตัวเองด้วยแนวคิดเหล่านี้
- ไม่ว่ายังไงคนก็ต้องซื้อบ้าน เพราะคนต้องอยู่บ้าน
- ยังไงบ้านก็มีแต่ราคาเพิ่มขึ้น ซื้อไว้ยังไงก็กำไร
ด้วยความคิดเหล่านี้ นักลงทุนเหล่านี้จึงซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็บไว้เก็งกำไร ทำให้ตัวเลขยอดขายออกมาดูดี จนดูเหมือนจะมี Demand ดูเหมือนคนทั่วไปกำลังจะซื้อบ้าน
ทั้ง ๆ ที่ตัวเลขที่ดูดีเกิดจากการที่นักลงทุนต่างหากที่ซื้อหรือผ่อนอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นคนละหลังสองหลัง (หรือมากกว่านั้น) เพื่อรอวันขายออกในราคาที่คาดว่าจะดี (ซึ่งในระยะแรกก็อาจจะขายได้)
แต่ในระยะยาวเมื่อ Demand เทียมเพิ่มขึ้น ระดับราคาของอสังหาริมทรัพย์ก็จะเพิ่มขึ้นตาม เพราะไม่ว่าจะเป็น Demand แท้ หรือ Demand เทียม ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นความต้องการซื้อ เมื่อความต้องการซื้อมากขึ้นราคาก็จะสูงขึ้นตามกลไกของตลาด
ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อ Demand เทียม ดันราคาอสังหาริมทรัพย์จนเกินระดับที่คนมองว่าสมเหตุสมผลคนก็จะหยุดซื้อ หรือในอีกกรณีคือคนที่ต้องการไม่สามารถซื้อได้เพราะราคาไปไกลเกินเอื้อม (กว่าที่ควรจะเป็น)
คำถามคือ แล้วจะขายให้ใคร ในเมื่อคนที่ต้องการจะซื้อจริง ๆ ยังไม่สามารถซื้อได้? และนี่ก็คือปัญหาหลักของ Demand เทียมที่เกิดกับอสังหาริมทรัพย์มาโดยตลอด