GreedisGoods » Economics » อุปสงค์ อุปทาน คืออะไร? เข้าใจตลาดผ่านกลไก Demand และ Supply

อุปสงค์ อุปทาน คืออะไร? เข้าใจตลาดผ่านกลไก Demand และ Supply

by Kris Piroj
อุปสงค์ อุปทาน คือ Demand Supply คือ กราฟ อุปสงค์ และ อุปทาน ตัวอย่าง

อุปสงค์ อุปทาน คืออะไร?

อุปสงค์ อุปทาน คือ แนวคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคเต็มใจซื้อและสามารถซื้อได้ (เรียกว่า อุปสงค์ หรือ Demand) กับปริมาณที่ผู้ผลิตเต็มใจผลิตและสามารถขายได้ (เรียกว่า อุปทาน หรือ Supply) ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีบทบาทต่อราคาและปริมาณสินค้าในระบบเศรษฐกิจที่อิงกับตลาด

อุปสงค์ อุปทาน (Demand Supply) เป็นแนวคิดพื้นฐานที่นำมาใช้ในการอธิบายกลไกราคาสินค้าและบริการ ตลอดจนปริมาณสินค้าและบริการที่ผลิตและเสนอขายอยู่ในตลาด

โดยอุปสงค์ (Demand) จะใช้อธิบายปริมาณความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่มีความสามารถที่จะซื้อสินค้าได้ (มีกำลังซื้อ) ในระดับราคาแต่ละระดับราคา ในขณะที่อุปทาน (Supply) คือสิ่งที่อธิบายปริมาณความต้องการขายสินค้าในตลาดของผู้ผลิตที่เต็มใจผลิตและขายสินค้าในแต่ละระดับราคา

เมื่ออุปสงค์ (ความต้องการซื้อ) เพิ่มขึ้นจะทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่มากขึ้น เมื่อระดับราคาเพิ่มขึ้นจะจูงใจให้ผู้ผลิตต้องการขายสินค้าและผลิตสินค้าออกมามากขึ้นส่งผลให้อุปทานของสินค้าดังกล่าวในตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่ปริมาณสินค้าในตลาดเพิ่มขึ้น (จากแรงจูงใจด้านราคา) เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ปริมาณสินค้ามากเกินความต้องการจะทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวลดลงตามกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) และเข้าสู่จุดดุลยภาพ (Equilibrium) ในจุดที่อุปสงค์เท่ากับอุทานในท้ายที่สุด

กล่าวคือ อุปสงค์ อุปทาน เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายถึงปริมาณความต้องการซื้อสินค้าและปริมาณความต้องการขายสินค้าที่มีความสัมพันธ์กันตามกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) กฎของอุปทาน (Law of Supply) และดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium) ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างกันของอุปสงค์และอุปทานดังกล่าวทำให้ระดับราคาของสินค้าเปลี่ยนแปลงต่างกันในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและปริมาณสินค้าจะไม่มีผลกับระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้อิงกับตลาด (ซึ่งไม่น่าจะมีประเทศแบบนั้นอยู่จริง) หรือสินค้าที่ไม่ได้เป็นไปตามกลไกของตลาดเนื่องจากมีการแทรกแซงของรัฐบาลในสินค้าบางประเภทเพื่อประโยชน์ของประเทศบางประการ

อุปสงค์ คืออะไร?

อุปสงค์ (Demand) คือ ปริมาณความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายและสามารถซื้อได้ (มีกำลังซื้ออยู่จริง) ในระดับราคาที่ต่างกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ระดับของอุปสงค์เพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ราคา (Price) เมื่อราคาของสินค้าหรือบริการลดลง (ในขณะที่ปัจจัยอื่นไม่เปลี่ยนแปลง) ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าดังกล่าวมากขึ้น
  • รายได้ (Income) เมื่อรายได้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้เงินไปกับสินค้าและบริการมากขึ้น
  • รสนิยมและกระแส (Taste & Trend) หากสินค้าเป็นที่ต้องการจากกระแสบางอย่างหรือรสนิยมของคนกลุ่มใหญ่ ก็จะทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นที่ต้องการมากขึ้น
  • ราคาของสินค้าที่ใช้แทนกันได้เพิ่มขึ้น เมื่อราคาของสินค้าหนึ่งที่สามารถทดแทนกันได้เพิ่มขึ้น ความต้องการสินค้าทดแทน (Substitute Product) ก็จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น
  • สินค้าประกอบกันราคาลดลง เมื่อราคาของสินค้าประกอบกัน (Complementary Goods) ที่ต้องใช้ร่วมกับสินค้า A ลดลง ผู้บริโภคก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้สินค้า A มากขึ้น
  • จำนวนผู้ซื้อ (Customers) เมื่อมีเหตุให้จำนวนผู้ที่ต้องการสินค้ามีจำนวนมากขึ้น อุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้าดังกล่าวย่อมเพิ่มขึ้นตาม
  • ฤดูกาล (Seasonal) ฤดูกาลที่ต่างกัน อาจทำให้ความต้องการสินค้าบางประเภทในแต่ฤดูกาลแตกต่างกัน
  • การคาดการณ์ราคาสินค้า (Expectation) อย่างเช่น การเห็นข่าวว่าราคาน้ำมันจะถูกลงในวันพรุ่งนี้ คุณจึงไม่เติมน้ำมันในวันนี้

ทั้งนี้ ความต้องการซื้อแบบปากเปล่าแต่ไม่สามารถซื้อได้ จะไม่นับว่าเป็นอุปสงค์หรือ Demand

โดยความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ (ความต้องการซื้อ) กับระดับราคาของสินค้าจะถูกอธิบายด้วยกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) ซึ่งได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับของปริมาณของอุปสงค์ (Quantity Demanded) กับระดับราคาของสินค้า (Price) เอาไว้ว่า เมื่อสินค้าราคาสูงขึ้น (Price เพิ่มขึ้น) ระดับอุปสงค์ของสินค้าดังกล่าวจะลดลง (Demand ลดลง) และในทางกลับกันเมื่อสินค้าราคาลดลง (Price ลดลง) ระดับอุปสงค์ของสินค้าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น (Demand เพิ่มขึ้น)

  • เมื่อสินค้าราคาสูงขึ้น (Price เพิ่มขึ้น) ความต้องการซื้อสินค้าจะลดลง (Demand ลดลง)
  • เมื่อสินค้าราคาลดลง (Price ลดลง) ความต้องการซื้อสินค้าจะเพิ่มขึ้น (Demand เพิ่มขึ้น)
กราฟ อุปสงค์ อุปทาน Graph กฎของอุุปสงค์ Law of Demand
กราฟอุปสงค์ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์กับราคาสินค้าตามกฎของอุปสงค์ (Law of Demand)

จากกราฟอุปสงค์จะเห็นว่า เมื่อราคาสินค้า (Price) เพิ่มขึ้นจากจุด P2 ไปเป็นจุด P1 ระดับของอุปสงค์หรือปริมาณความต้องการซื้อสินค้า (Quantity Demanded) จะลดลงจากจุด Q2 เหลือจุด Q1

และในอีกมุมมองหนึ่ง หากระดับของอุปสงค์หรือปริมาณความต้องการซื้อสินค้า (Quantity Demanded) เพิ่มขึ้นจากจุด Q1 ไปเป็น Q2 ก็จะทำให้ราคาสินค้า (Price) ลดลงจากจุด P1 เหลือจุด P2

โดยเส้น Demand Curve ที่ลาดลงจากซ้ายลงมาทางด้านขวา (เส้นอุปสงค์ที่ลาดลง) เป็นสิ่งที่อธิบายถึงการที่เมื่อราคาสินค้าลดลง ปริมาณความต้องการมักจะเพิ่มขึ้น และในทางกลับกัน กล่าวคือ ยิ่งสินค้ามีราคาสูงขึ้น ผู้ซื้อยิ่งไม่อยากซื้อสินค้า จำเป็นต้องลดปริมาณการซื้อสินค้าลง เปลี่ยนไปใช้สินค้าอื่น หรือไม่สามารถซื้อได้อีกแล้ว และในทางกลับกันหากสินค้าดังกล่าวยิ่งเป็นที่ต้องการ (ด้วยเหตุผลบางประการ) ก็จะยิ่งทำให้สินค้านั้นมีราคาเพิ่มสูงขึ้น

อุปทาน คืออะไร?

อุปทาน (Supply) คือ ปริมาณความต้องการขายสินค้าหรือบริการที่ผู้ผลิตเต็มใจขายและเสนอขายในระดับราคาที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยที่สามารถส่งผลให้ระดับของอุปทานเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ราคาของสินค้า (Price) ราคาที่สูงขึ้นของสินค้าหนึ่งสามารถกระตุ้นให้ผู้ผลิตเพิ่มปริมาณการผลิตของสินค้าดังกล่าวได้
  • ต้นทุนการผลิต (Manufacturing Costs) เมื่อต้นทุนที่เกี่ยวข้องในการผลิตสินค้า อย่างเช่น วัตถุดิบ แรงงาน และค่าใช้จ่ายในการผลิตอื่นลดลง ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ความต้องการผลิตของผู้ผลิตเพิ่มขึ้น
  • เทคโนโลยี (Technology) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตโดยตรง สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ส่งผลให้ด้วยต้นทุนเท่ากันผู้ผลิตสามารถผลิตได้มากขึ้น
  • จำนวนผู้ผลิต (Manufacturers) เป็นเรื่องปกติที่เมื่อจำนวนบริษัทที่ผลิตสินค้าชนิดหนึ่งมากขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย
  • การคาดการณ์ (Expectation) หากผู้ผลิตคาดการณ์ว่าราคาสินค้าดังกล่าวจะสูงขึ้นในอนาคต ผู้ผลิตอาจลดอุปทานของสินค้าดังกล่าวในปัจจุบันลง เพื่อรอการผลิตสินค้าเพื่อขายในช่วงที่ราคาที่สูงขึ้นในอนาคต

โดยความสัมพันธ์ระหว่างอุปทานหรือปริมาณความต้องการขายสินค้า (Quantity Supplied) กับระดับราคาของสินค้าจะถูกอธิบายด้วยกฎของอุปทาน (Law of Supply) ซึ่งอธิบายเอาไว้ว่า เมื่อระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น (Price เพิ่มขึ้น) ปริมาณความต้องการขายสินค้าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตาม (Supply เพิ่มขึ้น) ในทางกลับกันเมื่อระดับราคาสินค้าลดลง (Price ลดลง) ปริมาณความต้องการขายสินค้าดังกล่าวจะลดลง (Supply ลดลง) เช่นกัน

  • เมื่อระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น (Price เพิ่มขึ้น) ปริมาณความต้องการขายสินค้าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตาม (Supply เพิ่มขึ้น)
  • เมื่อระดับราคาสินค้าลดลง (Price ลดลง) ปริมาณความต้องการขายสินค้าดังกล่าวจะลดลงตาม (Supply ลดลง)
อุปทาน อุปสงค์ คือ กราฟ อุปทาน Supply Curve Graph
กราฟอุปทาน ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุปทานกับราคาสินค้าตามกฎของอุปทาน (Law of Supply)

จากกราฟจะเห็นว่า ถ้าหากสินค้าชนิดหนึ่งราคา (Price) เพิ่มขึ้นจากจุด P2 ไปเป็นจุด P1 ก็จะทำให้ปริมาณอุปทาน (Quanitity Supplied) หรือความต้องการขายสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามจากจุด Q2 ไปเป็นจุด Q1 และในทางกลับกันถ้าหากราคา (Price) สินค้าดังกล่าวลดลงจากจุด P2 ไปเป็นจุด P3 ก็จะทำให้ปริมาณอุปทานสินค้าดังกล่าว (Quanitity Supplied) ลดลงจากจุด Q2 เหลือจุด Q3

โดยเส้นอุปทาน (Supply Curve) ที่ลาดขึ้นจากซ้ายไปขวาในกราฟอุปทาน บ่งชี้ถึงการที่เมื่อราคาเพิ่มขึ้น ปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตเสนอขายก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

จุดดุลยภาพ (Equilibrium)

จุดดุลยภาพ (Equilibrium) คือ จุดที่อุปสงค์เท่ากับอุปทานพอดี เป็นจุดที่ระดับปริมาณความต้องการซื้อ (Demand) ของผู้บริโภคเท่ากับปริมาณความต้องการขาย (Supply) ของผู้ผลิตพอดี ซึ่งเป็นจุดที่ตลาดอยู่ในระดับสมดุลพอดี

โดยกลไกของดุลยภาพของตลาดจะเกิดจากกลไกของอุปสงค์และอุปทาน ที่เมื่ออุปสงค์ (ความต้องการซื้อ) เพิ่มขึ้นจะทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่มากขึ้น เมื่อระดับราคาเพิ่มขึ้นจะจูงใจให้ผู้ผลิตต้องการขายสินค้าและผลิตสินค้าออกมามากขึ้นส่งผลให้อุปทานของสินค้าดังกล่าวในตลาดเพิ่มขึ้น

การที่ปริมาณสินค้าในตลาดเพิ่มขึ้น (จากแรงจูงใจด้านราคา) เมื่อมากขึ้นจนถึงจุดหนึ่งที่ปริมาณสินค้ามากเกินความต้องการ (Oversupply) จะทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวลดลงตามกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) และเข้าสู่จุดดุลยภาพ (Equilibrium) ในจุดที่อุปสงค์เท่ากับอุทานในท้ายที่สุด

ตัวอย่างเช่น ราคาที่ดินที่ถ้าหากระดับราคาที่ดินแปลงหนึ่งของเจ้าของที่ดินมีการตั้งราคาขายสูงกว่าราคาที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่รับได้สำหรับที่ดินในทำเลแบบเดียวกัน (โดยที่ผู้ซื้อทั้งตลาดไม่ได้รวมหัวกันไม่ยอมซื้อที่ดินในราคาดังกล่าว) เมื่อเวลาผ่านไปก็จะไม่มีใครซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว และเจ้าของที่ดินก็จะเริ่มลดราคาลงเพราะรู้ตัวว่าราคาขายแพงเกินไป

กราฟ อุปสงค์ อุปทาน และ ราคา ดุลยภาพ Demand Supply คือ
กราฟอุปสงค์อุปทาน และราคาดุลยภาพ

ซึ่งกราฟดุลยภาพจะเกิดขึ้นจากการที่นำเส้นอุปสงค์ (Demand Curve) และเส้นอุปทาน (Supply Curve) วางซ้อนกัน ซึ่งจุดที่ตัดกันพอดีระหว่างทั้ง 2 เส้น คือ จุดดุลยภาพ (Equilibrium) ที่จะแสดงให้เห็นจำนวนปริมาณของสินค้าและระดับราคาในจุดดุลภาพดังกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด