Depositary Receipt คืออะไร?
Depositary Receipt คือ ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดย Depositary Receipt หรือ DR คือตราสารทางการเงินที่ทำให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ผ่านตลาดหุ้นไทย เนื่องจาก Depositary Receipt เกิดขึ้นมาจากการที่ผู้ออก DR (ที่ได้รับอนุญาตตามจาก ก.ล.ต.) ซื้อหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศ เพื่อนำหุ้นเหล่านั้นมาเสนอขายในรูปของ DR เป็นสกุลเงินบาท
แต่เดิมนักลงทุนชาวไทยที่ต้องการซื้อหุ้นจากต่างประเทศด้วยตนเองจะต้องแลกเงินจะต้องแลกเงินบาทเป็นเงินสกุลต่างประเทศก่อนจึงจะสามารถซื้อหุ้นในต่างประเทศได้ (นอกจากนี้ยังมีกฎหมายและเงื่อนไขการลงทุนอื่น ๆ อีกด้วย)
การลงทุนใน Depositary Receipt หรือ DR คือสิ่งที่จะช่วยให้นักลงทุนชาวไทยสามารถซื้อหุ้นต่างประเทศได้ (เกือบโดยตรง) เป็นเงินบาทผ่านการซื้อ Depositary Receipt ในหุ้นที่ต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่มีอัตราส่วนอยู่ที่ 1 DR เท่ากับ 1 หุ้นต่างประเทศ (จะไม่ 1:1 ก็ได้) รวมทั้งยังได้สิทธิต่าง ๆ เสมือนการถือหุ้นโดยตรง เช่น เงินปันผล และการประชุมผู้ถือหุ้น
ทั้งหมดทำให้นักลงทุนสามารถซื้อหุ้นต่างประเทศชื่อดังอย่างเช่น Apple, Facebook, Toyota, Tencent, Alphabet, Amazon, และ Microsoft หรือของบริษัทอะไรก็ตามที่มีการออก DR ใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยที่ไม่ต้องกังวลกับอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนการแลกเงินเข้าไปซื้อเอง
แม้ว่า DR หรือ Depositary Receipt เป็น ตราสารทางการเงินที่ค่อนข้างใหม่สำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงในต่างประเทศมีตราสารทางการเงินในลักษณะนี้มานานแล้ว อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเรียกว่า American Depositary Receipt หรือ ADR
การลงทุนใน Depositary Receipt
การลงทุนใน Depositary Receipt หรือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศจะซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ออกโดยผู้ออก DR ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.
ชื่อของตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือ DR จะมีความยาวสูงสุด 10 ตัวอักษร
- 8 ตัวแรกของชื่อ DR (ตัวอักษรภาษาอังกฤษ) คือ ชื่อหลักทรัพย์อ้างอิง (หุ้นหรือ ETF ต่างประเทศ)
- 2 ตัวสุดท้ายของชื่อ DR (ตัวเลข) คือ หมายเลขของผู้ออก DR
ตัวอย่างเช่น GREEDISG55 คือ DR ของหลักทรัพย์ชื่อ GREEDISG (สมมติว่าย่อมาจากชื่อบริษัท Greed is Goods) ซึ่ง DR ออกโดยบริษัทสมาชิกหมายเลข 55
ในส่วนของค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย Depositary Receipts (DR) ก็จะเหมือนการซื้อขายหุ้นผ่านนายหน้าซื้อขายหุ้น (โบรคเกอร์) เพียงแต่จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเมื่อหุ้นที่ DR นั้นอ้างอิงมีการจ่ายสิทธิประโยชน์ โดยขั้นต่ำในการซื้อขาย DR จะอยู่ที่ 1 หน่วย DR ซึ่ง 1 หน่วย DR มีค่าเท่ากับ 1 หุ้น (หรือพูดง่าย ๆ คือซื้อขายขั้นต่ำ 1 หุ้นนั่นเอง)
ผลตอบแทนของ Depositary Receipt
ผลตอบแทนของการลงทุนในตราสาร Depositary Receipt DR เหมือนกับผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้นและ ETF ซึ่งก็คือ กำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital gain) และเงินปันผล (Dividend)
นอกจากนี้ ผู้ถือ Depositary Receipt ยังได้สิทธิต่าง ๆ เสมือนการถือหุ้นอย่างเช่นสิทธิในการออกเสียงการประชุมผู้ถือหุ้น
ข้อดีของ Depositary Receipts (DR)
ข้อดี DR หรือ Depositary Receipt ที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจได้ผ่าน ตลาดหุ้นไทย จากที่แต่ก่อนถ้าอยากซื้อหุ้นต่างประเทศต้องจัดการเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศเอง ซึ่งมีขั้นตอนที่ค่อนข้างวุ่นวาย (และใช้เงินมากพอสมควร)
ข้อดีอีกประการของ DR นอกจากโอกาสในการลงทุนก็คือ การที่ได้ซื้อหุ้นต่างประเทศเป็นเงินบาท (ในฐานะ Depositary Receipt หรือ DR) ทำให้การลงทุนในหุ้นต่างประเทศง่ายขึ้น จากการที่ไม่ต้องคอยกังวลกับอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก
ข้อเสียของ Depositary Receipts (DR)
ข้อเสียของ DR หรือ Depositary Receipt คือ เรื่องของค่าธรรมเนียมที่ได้อธิบายไว้ในตอนต้น
ส่วนข้อเสีย (เรียกว่าข้อจำกัดน่าจะดีกว่า) รองลงมาคือ ไม่ได้มีหุ้นต่างประเทศทุกหุ้นที่นักลงทุนอาจจะต้องการ เพราะ Depositary Receipt หรือ DR ที่ทำการซื้อขายกันนั้น จะมีเฉพาะหุ้นที่มีการออก DR แน่นอนว่าหุ้นที่มีการออก DR ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหุ้นที่คนให้ความสนใจ (และหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ของ ก.ล.ต.)
ข้อมูลอ้างอิงจาก: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์