ค่าเสื่อมราคา คืออะไร?
ค่าเสื่อมราคา คือ การลดลงของมูลค่าสินทรัพย์เมื่อเวลาผ่านไป เป็นวิธีการทางบัญชีในการทยอยตัดค่าใช้จ่ายจากมูลค่าเต็มของสินทรัพย์ถาวร แทนการนำมูลค่าเต็มของสินทรัพย์ถาวรไปหักเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในรอบบัญชีเดียว เพราะในความเป็นจริงบริษัทไม่ได้ใช้สินทรัพย์ถาวรจนหมดสภาพใน 1 ปี
โดยสินทรัพย์ที่กฎหมายกำหนดให้หักค่าเสื่อมราคาคือสินทรัพย์ถาวรซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 1 รอบปีบัญชี เช่น เครื่องจักร อาคาร รถยนต์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ (ยกเว้นที่ดิน)
วิธีคิดค่าเสื่อมราคาสามารถทำได้ 4 วิธี ดังนี้
- วิธีเส้นตรง
- วิธียอดลดลงทวีคูณ
- วิธีผลรวมจำนวนปี
- วิธีจำนวนผลผลิต
ตัวอย่างเช่น บริษัทใครประกันชีวิตซื้ออาคารสำนักงานใหม่ในราคา 10 ล้านบาท และสมมติว่าบริษัทใครประกันชีวิตมีรายได้ในปีที่ซื้ออาคารสำนักงานดังกล่าว 6 ล้านบาท ในกรณีที่ไม่มีการหักค่าเสื่อมราคา (Depreciation) หมายว่าถ้าบริษัทใครประกันชีวิตจะนำค่าใช้จ่ายในการซื้ออาคารสำนักงานใหม่ทั้งหมด 10 ล้านบาทไปหักค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน กลายเป็นว่าในปีนั้นบริษัทขาดทุน 4 ล้านบาท
แต่เมื่อมีการหักค่าเสื่อมราคา จากตัวอย่างเดิมอาคารตามกฎหมายกำหนดให้หักค่าเสื่อมราคาปีละ 5% ของมูลค่าอาคาร (เมื่อครบ 20 ปีจึงจะหักจนหมด 10 ล้านบาท) และสมมติว่าตัวอาคารมีมูลค่าซาก 0 บาท
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่อยู่ในบัญชีของบริษัทใครประกันชีวิตในปีนี้คือ 5% ของ 10 ล้านบาท หรือ 500,000 บาทต่อปี (และจะหักไปเรื่อย ๆ ทุกรอบบัญชีจนครบ 20 ปี) ซึ่งการหักค่าเสื่อมราคาด้วยวิธีนี้เรียกว่าการหักค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรง (Straight-Line Depreciation Method)
วิธีคิดค่าเสื่อมราคา
วิธีคิดค่าเสื่อมราคาสามารถทำได้ 4 วิธี ได้แก่ วิธีเส้นตรง, วิธียอดลดลงทวีคูณ, วิธีผลรวมจำนวนปี, และวิธีจำนวนผลผลิต โดยแต่ละวิธีมีวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาที่แตกต่างกัน ดังนี้
วิธีเส้นตรง (Straight-Line Depreciation Method)
ค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรง คือ การใช้ราคาทุนของสินทรัพย์ถาวร (ที่ไม่ใช่ที่ดิน) ลบด้วยมูลค่าซาก (มูลค่าคงเหลือ) และนำค่าที่ได้ไปหารด้วยอายุการใช้งาน เป็นวิธีคิดค่าเสื่อมราคาที่นิยมที่สุดเนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายเพราะเป็นเพียงการหารมูลค่าของสินทรัพย์ถาวร (หลังหักมูลค่าซาก) เป็นจำนวนเท่า ๆ กัน
ค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรง = (ราคาทุน – มูลค่าซาก) ÷ อายุการใช้งาน
วิธียอดลดลงทวีคูณ (Double Declining Balance Depreciation Method)
วิธียอดลดลงทวีคูณ คือ วิธีการคิดค่าเสื่อมราคาโดยใช้ 2 เท่าของอัตราค่าเสื่อมราคา คูณด้วยราคาตามบัญชีของสินทรัพย์ดังกล่าว ณ วันต้นงวด
ค่าเสื่อมราคาวิธียอดลดลงทวีคูณ = 2 x อัตราค่าเสื่อมราคา x มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ดังกล่าว ณ วันต้นงวด
โดยที่อัตราค่าเสื่อมราคาคำนวณมาจาก: 100% ÷ อายุการใช้งาน = อัตราค่าเสื่อมราคา
และมูลค่าทางบัญชีคำนวณมาจาก: ราคาทุน – ค่าเสื่อมราคาสะสม = มูลค่าทางบัญชี
วิธีผลรวมจำนวนปี (Sum-of-the-Years-Digits Depreciation Method)
วิธีผลรวมจำนวนปี คือ วิธีคิดค่าเสื่อมราคาด้วยคำนวณจากอายุการใช้งานคงเหลือของสินทรัพย์ คูณกับราคาทุนลบด้วยมูลค่าซากของสินทรัพย์ถาวร
ค่าเสื่อมราคาวิธีผลรวมจำนวนปี = (อายุการใช้งานคงเหลือของสินทรัพย์ถาวร ÷ ผลรวมจำนวนปีของอายุการใช้งาน) x (ราคาทุน – มูลค่าซาก)
โดยที่ผลรวมจำนวนปีจะได้มาจากการนำตัวเลขอายุการใช้งานตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีสุดท้ายมารวมกัน (ตัวเลขของปีที่ 1, 2, 3, 4,…,n) ถ้าหากอายุการใช้งานของอาคารคือ 20 ปี ผลรวมจำนวนปีจะเท่ากับ 1 + 2 + 3 + 4 + 5 + 6 + 7 + 8 + 9 + 10 + 11 + 12 + 13 + 14 + 15 + 16 + 17 + 18 + 19 + 20 = 210
วิธีจำนวนผลผลิต (Units of Production Depreciation Method)
วิธีจำนวนผลผลิต คือ ค่าเสื่อมราคาที่คำนวณมาจากราคาต่อหน่วยคูณด้วยปริมาณผลผลิตในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ
ค่าเสื่อมราคาวิธีจำนวนผลผลิต = [((ราคาทุน – มูลค่าซาก) ÷ ปริมาณการผลิตตลอดอายุการใช้งาน) x ปริมาณการผลิตจริงในรอบระยะเวลาบัญชี]
โดยที่ปริมาณการผลิตตลอดอายุการใช้งานคือจำนวนคาดการณ์ว่าสินทรัพย์ถาวรดังกล่าวจะสามารถผลิตได้ตลอดอายุการใช้งาน
คำถามที่พบบ่อย
ค่าเสื่อมราคา คือ การลดลงของมูลค่าสินทรัพย์เมื่อเวลาผ่านไป เป็นวิธีการทางบัญชีในการทยอยตัดค่าใช้จ่ายจากมูลค่าเต็มของสินทรัพย์แทนการนำมูลค่าเต็มของสินทรัพย์ถาวรไปหักเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในปีเดียว
วิธีคิดค่าเสื่อมราคาสามารถทำได้ 4 วิธี ได้แก่ วิธีเส้นตรง, วิธียอดลดลงทวีคูณ, วิธีผลรวมจำนวนปี, และวิธีจำนวนผลผลิต
วิธีเส้นตรง (Straight-Line Depreciation Method) เป็นวิธีคิดค่าเสื่อมราคาที่นิยมใช้จริงมากที่สุด เนื่องจากเป็นเพียงการหารมูลค่าของสินทรัพย์ถาวร (หลังหักมูลค่าซาก) ด้วยจำนวนปีที่สินทรัพย์ใช้งานได้ ออกมาเป็นค่าเสื่อมจำนวนเท่า ๆ กันทุกปี