Diseconomies of Scale คืออะไร?
Diseconomies of Scale คือ การไม่ประหยัดต่อขนาดที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าจำนวนมาก แต่ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยกลับไม่ลดลงอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่ง Diseconomies of Scale คือด้านตรงข้ามของ Economies of Scale หรือการประหยัดต่อขนาดที่เกิดจากการผลิตสินค้าปริมาณมากเพื่อทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง
ตามปกติในการผลิตจะประกอบด้วยต้นทุนการผลิต 2 ส่วน คือ ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ที่เป็นต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณสินค้าที่ผลิต และต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) คือต้นทุนที่ไม่ว่าจะผลิตสินค้ากี่ชิ้นต้นทุนคงที่จะไม่เปลี่ยนไปหรือเปลี่ยนไปน้อยมากแบบไม่มีผล
การประหยัดต่อขนาดหรือ Economies of Scale เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ที่ต้นทุนจะไม่เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะผลิตมากหรือน้อย
สมมติว่า การผลิตเสื้อมีต้นทุนผันแปรต่าง ๆ ในการผลิตเสื้ออยู่ที่ตัวละ 10 บาท และบริษัทมีต้นทุนคงที่เป็นค่าเช่าโรงงานเดือนละ 100,000 บาท
การผลิตเสื้อ 1,000 ตัว ต้นทุนต่อหน่วยของเสื้อจะเท่ากับ ((1,000 ตัว x 10 บาท) + 100,000 บาท) ÷ 1,000 = 110 บาท
แต่ถ้าหากบริษัทผลิตเสื้อ 3,000 ตัว ต้นทุนต่อหน่วยของเสื้อจะเท่ากับ ((3,000 ตัว x 10 บาท) + 100,000 บาท) ÷ 3,000 = 43.33 บาท
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่นำไปสู่ Diseconomies of Scale คือ การที่บางครั้งต้นทุนคงที่ก็มีขีดจำกัด จากตัวอย่างแม้ว่าเราจะผลิตเสื้อปริมาณต่างกันได้ตั้งแต่ 1,000 ถึง 3,000 ตัว แต่ถ้าหากต้องการผลิต 10,000 ตัวต้นทุนคงที่อย่างโรงงานหรือแรงงานอาจไม่เพียงพอต่อการผลิตสินค้าปริมาณมากขนาดนี้
ดังนั้น เมื่อถึงธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มต้นทุนคงที่ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต (จ้างพนักงานเพิ่ม ขยายโรงงาน เพิ่มเครื่องจักร) นั่นหมายความว่าต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) จะเพิ่มขึ้น
ตัวอย่าง Diseconomies of Scale
จากตัวอย่างเดิมถ้าหากบริษัทต้องการผลิตสินค้า 10,000 ชิ้น แต่ถ้าหากผลิตเกิน 8,000 ชิ้น บริษัทจะต้องเช่าโรงงานเพิ่มซึ่งทำให้เกิดต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
ถ้าหากบริษัทผลิตสินค้า 8,000 ชิ้น ต้นทุนต่อหน่วยของเสื้อจะเท่ากับ ((8,000 ตัว x 10 บาท) + 100,000 บาท) ÷ 8,000 = 22.5 บาท
แต่เมื่อเพิ่มปริมาณการผลิตข้ามเส้นมาเป็น 10,000 ชิ้น ต้นทุนต่อหน่วยของเสื้อจะเท่ากับ ((10,000 ตัว x 10 บาท) + 200,000 บาท) ÷ 10,000 = 30 บาท
ทั้งหมดคือกลไกของ Diseconomies of Scale ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าจนถึงจุดที่ต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นจนเกิดความไม่ประหยัดต่อขนาด
กราฟ Diseconomies of Scale
อย่างไรก็ตาม Diseconomies of Scale เป็นสิ่งคนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยได้ยินหรือถูกพูดถึงมากเท่า Economies of Scale และอาจเกิดคำถามว่าผลิตปริมาณมากจะไม่คุ้มได้อย่างไร แต่จริง ๆ แล้วทุกคนที่เข้าใจกราฟ Economies of Scale และเคยเห็นภาพของ Diseconomies of Scale มาก่อนแล้ว
ก่อนอื่น เริ่มจากลองกลับมาดูกราฟ Economies of Scale ที่หลายคนคุ้นเคยกันใหม่อีกครั้ง

จากกราฟจะเห็นว่าเส้น EOS หรือเส้น Economies of Scale เป็นเส้นโค้งนั่นหมายถึงว่า ในท้ายที่สุด จำนวนการผลิตที่มากขึ้น (Q มากขึ้น) จะทำให้ต้นทุนกลับมาเพิ่มขึ้น (C เพิ่มขึ้น) แทนที่จะลดลงตามที่หลายคนเข้าใจตามแนวคิด Economies of Scale ซึ่งเราจะเรียกสิ่งนี้ว่า Diseconomies of Scale นั่นเอง
ซึ่งเส้นโค้งที่เห็นจริง ๆ แล้วไม่ใช่เส้นที่อยู่ ๆ ลากขึ้นมาเอง แต่เป็นการลากตามจุดตัดของกราฟไปเรื่อย ๆ
จะเห็นว่า Diseconomies of Scale จะมีแนวคิดที่คล้ายกับ Law of Diminishing Return ในส่วนของการที่ “อะไรที่มากเกินไปจะทำให้เกิดโทษ แทนที่จะเป็นประโยชน์”