GreedisGoods » Business » Divestment Strategy คืออะไร? ทำอย่างไร

Divestment Strategy คืออะไร? ทำอย่างไร

by Kris Piroj
Divestment Strategy คือ กลยุทธ์ถอนการลงทุน กลยุทธ์หยุดลงทุน กลยุทธ์ไม่ลงทุน Divestiture Strategy

Divestment Strategy คืออะไร?

Divestment Strategy คือ กลยุทธ์หยุดลงทุน เป็นกลยุทธ์ที่หยุดการลงทุนชั่วคราวหรือลดการลงทุนในส่วนที่ไม่ทำกำไรให้กับบริษัทอีกต่อไป เพื่อนำทรัพยากรอย่างเงินทุนและแรงงานไปใช้กับธุรกิจในส่วนที่ยังสามารถทำกำไรให้บริษัทได้แทน

โดย Divestment Strategy เป็นกลยุทธ์ในลักษณะ Retrenchment Strategy หรือ กลยุทธ์การหดตัว ตามหลักการจัดการเชิงกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้เมื่อบริษัทกำลังประสบปัญหาบางอย่าง ทำให้ต้องใช้กลยุทธ์ในลักษณะนี้พยุงบริษัทในภาพรวมเอาไว้ชั่วคราวจนกว่าบริษัทจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม Divestment Strategy ในบางครั้งอาจจะไม่ได้เป็นเพียงการหยุดลงทุนหรือลดการลงทุนแล้วปัญหาทุกอย่างจบลงเสมอไป แต่ในบางครั้งอาจเป็นการหยุดเพื่อทำให้บริษัทอยู่รอดจากการนำทรัพยากรที่มีอยู่ไปใช้กับส่วนที่ยังทำกำไรได้ และในระหว่างนี้บริษัทอาจจะต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าในภาพรวมบริษัทกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่ (ในกรณีที่มีมากกว่า 1 ปัญหา) เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป

โดย Divestment Strategy จะแตกต่างจาก Liquidation Strategy ที่เป็นการชำระบัญชีที่บริษัทหรือองค์กรตัดสินใจขายสินทรัพย์ “ทั้งหมด” เปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อใช้ชำระหนี้สินและยุติการดำเนินงาน ซึ่ง Liquidation Strategy มักจะถูกใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อบริษัทไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

กล่าวคือ Divestment Strategy เป็นกลยุทธ์การหยุดลงทุนในส่วนที่ไม่ทำกำไร (เลือก) ซึ่งการหยุดลงทุนมีเป้าหมายในการนำทรัพยากรที่มีอยู่ (อย่างจำกัด) ของธุรกิจไปทำอย่างอื่น

นอกจากนี้ ในบางครั้งอาจเห็น Divestment Strategy ถูกเรียกว่า Divestiture Strategy ซึ่งทั้ง 2 คำที่ใช้เรียกกลยุทธ์ดังกล่าวมีความหมายที่ไม่ต่างกันมากนัก โดย Divestment มักจะใช้ในบริบทที่กว้างกว่าเพื่อครอบคลุมการขายและจำหน่ายสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่กิจการมีด้วย ในขณะที่ Divestiture มักใช้กับกรณีที่มีความเฉพาะเจาะจงกว่าในการขายกิจการที่มักหมายถึงการขายหรือจำหน่ายหน่วยธุรกิจหรือบริษัทย่อย

เหตุผลที่ธุรกิจใช้ Divestment Strategy

สาเหตุที่ธุรกิจจะเลือกใช้กลยุทธ์ Divestment Strategy หรือ Divestiture Strategy มักจะมีสาเหตุมาจาก:

การมุ่งเน้นไปที่ความสามารถหลัก โดยการขายสินทรัพย์หรือธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักที่บริษัททำได้ดีที่สุดช่วยให้บริษัทสามารถทุ่มทรัพยากรที่มีและสมาธิกับหน่วยธุรกิจที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันซึ่งมีการเติบโตสูงหรือมีกำไรสูงได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น

ประสิทธิภาพทางการเงินให้กับบริษัทจากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น การขายสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพต่ำสามารถเพิ่มทุน ลดหนี้สิน และเพื่อการปรับปรุงสถานะทางการเงินของบริษัท

การปรับตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ของบริษัท โดยบริษัทอาจถอนการลงทุนบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดที่เปลี่ยนแปลง อย่างเช่น ในธุรกิจที่ไม่สามารถสร้างกำไรได้ดีอีกต่อไป และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นต้น

การลดความเสี่ยงที่เผชิญ การขายกิจการสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับตลาดที่ผันผวน เศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ (Recession) การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของภาครัฐ และความไม่แน่นอนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากหน่วยธุรกิจดังกล่าวที่ได้ขายออกไป

บริษัทกำลังมีปัญหาด้านต้นทุน จำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรใหม่ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับกิจการที่ขยายเร็วเกินไปจนนำไปสู่ปัญหาด้านการบริหารจัดการ การใช้ Divestment Strategy จึงช่วยลดธุรกิจที่มีปัญหาด้านต้นทุนออกไป

Divestment Strategy ทำอย่างไร

การถอนการลงทุนหรือการเลิกลงทุนในลักษณะของ Divestment Strategy สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือความต้องการของบริษัท ตลอดจนปัญหาที่บริษัทเผชิญ โดยทั่วไป Divestment Strategy มักเกิดขึ้นในลักษณะต่อไปนี้:

การขายสินทรัพย์ของหน่วยธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น อสังหาริมทรัพย์ อุปกรณ์ หรือทรัพย์สินทางปัญญา ที่ไม่จำเป็นและไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของบริษัทอีกต่อไป

การขายหน่วยธุรกิจนั้นออกไปทั้งหมด เป็นการขายหน่วยธุรกิจทั้งหมดที่ไม่ถือว่าจำเป็นต่อการดำเนินงานหลักของบริษัทออกไปให้กับเจ้าของรายใหม่ สิ่งนี้สามารถช่วยบริษัทกำจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักและมุ่งเน้นไปที่ความสามารถหลักของบริษัท

การแยกส่วนบริษัท (Spin-off) เป็นแยกหน่วยหน่วยธุรกิจดังกล่าวที่เป็นบริษัทย่อย (หรือกิจการร่วมค้า) ออกไปและกระจายหุ้นของกิจการใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทเดิม เพื่อกำจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักและมุ่งเน้นไปที่ความสามารถหลักของบริษัท ในขณะที่บริษัทที่แยกออกมาสามารถดำเนินธุรกิจดังกล่าวได้อย่างอิสระ

Carve-out เป็นการเสนอขายหุ้นของบริษัทย่อยหรือหน่วยธุรกิจผ่านการ IPO ซึ่งทำให้ธุรกิจได้เงินทุนจากการออก IPO มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่บริษัทแม่ยังมีอำนาจควบคุมส่วนใหญ่เหลืออยู่

บทความที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด