Economies of Scale คืออะไร?
Economies of Scale คือ การประหยัดต่อขนาด ที่เกิดจากการผลิตสินค้าในจำนวนที่มากพอจะทำให้ได้เปรียบในด้านต้นทุนจากการที่ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง เนื่องจากเมื่อผลิตสินค้าออกมามากขึ้นก็จะยิ่งใช้ต้นทุนคงที่ (Fixed Costs) ได้คุ้มค่ามากขึ้น
กล่าวคือ Economies of Scale คือแนวคิดของการที่ “ยิ่งผลิตมากขึ้น จะยิ่งคุ้มค่า” เพราะการผลิตที่เกิด Economies of Scale (EOS) หรือการประหยัดต่อขนาด ที่ผลิตสินค้าออกมากมากจะช่วยหารให้ต้นทุนคงที่ในการผลิตออกมาเป็นต้นทุนคงที่ต่อหน่วยที่ลดลง
โดยการผลิตที่ได้ Economies of Scale (EOS) หรือ การประหยัดต่อขนาดสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายส่วนในกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น
- การประหยัดจากต้นทุนค่าขนส่ง จากการที่ผลิตจำนวนมากทำให้การขนส่งต่อครั้งคุ้มค่ามากขึ้น
- การประหยัดจากต้นทุนทางการเงิน จากการที่กู้เงินจำนวนมากทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลง
- การใช้ต้นทุนคงที่ได้คุ้มค่าขึ้น จากการที่สามารถผลิตเต็มกำลังการผลิต ช่วยให้ต้นทุนจากการใช้เครื่องจักรแต่ละครั้งคุ้มค่ายิ่งขึ้น
- ต้นทุนในการโฆษณาและการส่งเสริมการขายต่อหน่วยลดลง จากการที่สินค้ามากขึ้นทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของค่าโฆษณาลดลง
อย่างไรก็ตาม Economies of Scale จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยจนถึงจุดหนึ่งเท่านั้น และในทางกลับกันเมื่อผลิตจนเกินจุดหนึ่งการผลิตที่จำนวนมากขึ้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นแทน ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามของ Economies of Scale (การประหยัดต่อขนาด) เรียกว่า Diseconomies of Scale (การไม่ประหยัดต่อขนาด)
ตัวอย่าง Economies of Scale
สมมติว่า บริษัท B เป็นบริษัทผลิตโทรศัพท์มือถือในจีน ซึ่งการที่จะผลิตโทรศัพท์แน่นอนว่าจะต้องมีต้นทุน โดยสมมติว่าต้นทุนในการผลิตมีอยู่ 2 ส่วน คือ ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) คือต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อผลิตมากขึ้น และต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) คือต้นทุนที่ไม่ว่าจะผลิตมากหรือน้อยแค่ไหนหรือไม่ผลิตเลย ต้นทุนก็ยังเกิดขึ้นเท่าเดิม
ในที่นี้สมมติว่า ต้นทุนชิ้นส่วนของโทรศัพท์แต่ละเครื่องรวมแล้ว มีต้นทุนผันแปรเครื่องละ 2,000 บาท และสมมติว่ามีต้นทุนคงที่แค่ค่าเช่าโรงงานเดือนละ 100,000 บาท
การผลิตสินค้าจำนวนมากทำให้เกิด Economies of Scale (EOS) ได้จากเหตุการณ์ในลักษณะ ดังนี้:
กรณีที่ 1
จากเงื่อนไขของตัวอย่าง ถ้าหากบริษัท B ผลิตโทรศัพท์ 100,000 เครื่อง บริษัท B จะมีต้นทุน ได้แก่ ค่าเช่าโรงงาน 100,000 บาท ที่ผลิตกี่เครื่องก็มีต้นทุนเท่าเดิม และต้นทุนชิ้นส่วนโทรศัพท์ 2,000 บาท x 100,000 เครื่อง = 200,000,000 บาท
รวมต้นทุนที่บริษัท B ใช้ผลิตโทรศัพท์ 100,000 เครื่อง คือ 200,000,000 + 100,000 = 200,100,000 บาท
ต้นทุนเฉลี่ยต่อการผลิตโทรศัพท์ต่อเครื่องทั้งหมดในที่นี้ คือ 200,100,000 ÷ 100,000 เครื่อง = 2,001 บาท
กรณีที่ 2
จากเงื่อนไขของตัวอย่าง ถ้าหากบริษัท B ผลิตโทรศัพท์ 200,000 เครื่อง บริษัท B จะมีต้นทุน ได้แก่ ค่าเช่าโรงงาน 100,000 บาท ที่ผลิตกี่เครื่องก็มีต้นทุนเท่าเดิม และต้นทุนชิ้นส่วนโทรศัพท์ 2,000 บาท x 200,000 เครื่อง = 400,000,000 บาท
รวมต้นทุนที่บริษัท B ใช้ผลิตโทรศัพท์ 100,000 เครื่อง คือ 400,000,000 + 100,000 = 400,100,000 บาท
ต้นทุนเฉลี่ยของโทรศัพท์ทั้งหมด คือ 400,100,000 ÷ 100,000 เครื่อง = 2,000.5 บาท
จะเห็นว่ายิ่งผลิตโทรศัพท์มากขึ้นเท่าต้นทุนเฉลี่ยของโทรศัพท์จะลดลง จากตัวอย่างเมื่อผลิต 200,000 เครื่องต้นทุนต่อเครื่องจะลดลงเหลือ 2,000.5 บาท จากตัวอย่างทั้งหมดคือภาพรวมของ Economics of Scale
โดยลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนต่อหน่วยและจำนวนการผลิตของ Economies of Scale สามารถเขียนเป็นกราฟได้ในลักษณะตามกราฟ Economies of Scale

โดยที่แกนตั้ง คือ ต้นทุนในการผลิต ส่วนแกนนอน คือ จำนวนสินค้าที่ผลิตออกมา
- Q1 คือจำนวนที่ผลิตเดิม
- C2 คือต้นทุนการผลิตเดิม
- Q2 คือจำนวนที่ผลิตที่เพิ่มขึ้น
- C1 คือต้นทุนการผลิตหลังเพิ่มจำนวนสินค้าที่ผลิต จะเห็นว่ามีต้นทุนที่ลดลง
จะเห็นว่าเมื่อเพิ่มจำนวนการผลิตจาก Q1 ไปที่ Q2 (จาก 100,000 ไปที่ 200,000 ชิ้น) จะทำให้ต้นทุนลดลงจาก C2 เป็น C1 (จาก 2,001 บาท เหลือ 2,000.5 บาท) โดยเส้นโค้งดังกล่าวเรียกว่า เส้น EOS หรือ เส้น Economies of Scale ที่แสดงการประหยัดต่อขนาด