EFE Matrix คือ ตารางประเมินปัจจัยภายนอก (External Factor Evaluation Matrix) เป็นตารางสำหรับการสรุปผลปัจจัยภายนอก (External Factors) ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับธุรกิจ รวมถึงความสามารถในการใช้ประโยชน์และรับมือปัจจัยภายนอกของธุรกิจ
การวิเคราะห์ EFE Matrix จะเป็นการนำปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ได้มาจากการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกด้วยเครื่องมือวิเคราะห์อย่างเช่น SWOT Analysis ทั้งโอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) มาใส่ใน EFE Matrix และให้น้ำหนักตามความสำคัญ เพื่อให้คะแนนการรับมือของบริษัทในแต่ละปัจจัย
โดยประโยชน์ของการวิเคราะห์ EFE Matrix คือแสดงให้เห็นว่าปัจจัยภายนอกปัจจัยใดบ้างที่บริษัทยังไม่สามารถตอบสนองหรือรับมือได้ดีพอ รวมถึงทำให้เห็นในภาพรวม (คะแนนรวม) ว่าบริษัทตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกได้ดีแค่ไหน เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้วิเคราะห์ร่วมกับ IFE Matrix เพื่อวิเคราะห์ IE Matrix สำหรับการวางแผนกลยุทธ์ต่อไป
ตาราง EFE Matrix
ในตาราง EFE Matrix หรือ External Factor Evaluation Matrix ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่
ปัจจัยภายนอกที่สำคัญ (Key External Factors) สำหรับการวิเคราะห์ EFE Matrix จากปัจจัยภายนอกที่ได้มาจาก SWOT Analysis ไม่จำเป็นจะต้องนำปัจจัยภายนอกทุกปัจจัยที่ได้มาใส่ใน EFE Matrix แต่เลือกมาเฉพาะปัจจัยที่สำคัญและมีผลต่อธุรกิจชัดเจน
น้ำหนัก (Weighted) คือ ระดับน้ำหนักความสำคัญของปัจจัยแต่ละปัจจัย โดยค่าน้ำหนักจะเป็นเลขทศนิยม 2 ตำแหน่ง โดยทั้งตาราง EFE Matrix ต้องมีค่าน้ำหนัก (Weight) ไม่เกิน 1.00
คะแนน (Rating) คือ ระดับคะแนนที่แสดงว่ากลยุทธ์ปัจจุบันของบริษัทใช้ประโยชน์จากโอกาสได้มากแค่ไหนและรับมืออุปสรรคได้มากแค่ไหน โดยระดับคะแนนจะ 4 ระดับ (4 คือมากที่สุด และ 1 คือน้อยที่สุด)
คะแนนถ่วงน้ำหนัก (Weighted Score) เป็นคะแนน Rating ที่ผ่านการถ่วงน้ำหนัก ได้มาจากการนำคะแนน Rating ของแต่ละปัจจัย คูณกับ ค่าน้ำหนัก (Weight) ของแต่ละปัจจัย
การให้คะแนน (Rating) และค่าน้ำหนัก (Weight) ควรให้คะแนนตามที่เกิดขึ้นจริง การให้คะแนนที่เข้าข้างตัวเองจะทำให้การวิเคราะห์ EFE Matrix ได้ค่าที่ผิดเพี้ยนและไม่เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
ตัวอย่าง EFE Matrix
ตัวอย่าง EFE Matrix เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกของโรงแรมญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ High End สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น โดยจากการวิเคราะห์พบว่าผลการวิเคราะห์ EFE Matrix ของโรงแรมดังกล่าวออกมาดังนี้:

จากตัวอย่างการวิเคราะห์ EFE Matrix ของโรงแรมดังกล่าว ผลรวมคะแนนถ่วงน้ำหนัก (Weighted Score) ของการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก คือ 2.43 หมายความว่า โรงแรมแห่งนี้สามารถตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกได้ในระดับปานกลาง บริษัทควรคิดกลยุทธ์เพื่อใช้ประโยชน์หรือป้องกันปัจจัยภายนอกให้มากขึ้น
ปัจจัยภายนอกที่บริษัทควรปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อป้องกันผลกระทบ คือ T1 นักท่องเที่ยวลดลงจากภัยพิบัติธรรมชาติ โดยอาจใช้การลดราคาชั่วคราว เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าภายในประเทศระหว่างที่ไม่มีลูกค้าจากต่างประเทศมาพักที่โรงแรม เพื่อทำให้ไม่สูญเสียกำลังผลิตไปอย่างสูญเปล่า
สำหรับ “T2 ชาวจีนเริ่มไปเทียวประเทศไกล ๆ แทนญี่ปุ่นมากขึ้น” และ “T3 รัฐบาลเตรียมเก็บภาษีนักท่องเที่ยวเพื่อลดจำนวนนักท่องเที่ยว” ถึงแม้ว่าคะแนน (Rating) อยู่ที่ 1 คะแนนซึ่งอยู่ในจุดที่ควรหาทางป้องกัน แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง
แปลผลการวิเคราะห์ EFE Matrix
คะแนนรวม (Total) ที่ได้จากผลรวมของ Weighted Score ของทั้งตาราง EFE Matrix จะแสดงให้เห็นว่าในภาพรวมแล้วบริษัทสามารถตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกได้มากน้อยเพียงใด จากทั้งหมด 4 ระดับ
สำหรับผลรวมที่ได้ตั้งแต่ 1.0 – 4.0 สามารถแปลผลได้ดังนี้
- บริษัทสามารถตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกได้แย่
- บริษัทสามารถตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกได้ในระดับปานกลาง (ระดับค่าเฉลี่ย)
- บริษัทสามารถตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกได้ดีกว่าระดับค่าเฉลี่ย
- บริษัทสามารถตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกได้ดี