Emerging Markets คืออะไร?
Emerging Markets คือ ตลาดเกิดใหม่ เป็นชื่อเรียกของกลุ่มตลาดของประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) หากยึดตาม MSCI จะแบ่ง Emerging Market เป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกา กลุ่มประเทศแถบยุโรป และกลุ่มประเทศเอเชีย
กลุ่มประเทศแถบยุโรป ตะวันออกกลาง และ แอฟริกาที่อยู่ในกลุ่ม Emerging Market ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก กรีซ อียิปต์ ฮังการี โปแลน กาตาร์ รัสเซีย แอฟริกาใต้ ตุรกี และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กลุ่มประเทศเอเชียที่อยู่ในกลุ่ม Emerging Market ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไทย ไต้หวัน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ (MSCI ยังไม่นับประเทศเวียดนามเข้าไป)
กลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกาที่อยู่ในกลุ่ม Emerging Market ได้แก่ บราซิล ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และ เปรู
ลักษณะที่สำคัญของประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets คือการที่กำลังเป็นประเทศพัฒนา (Developing Country) ทำให้ขนาดของเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากนโยบายต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเปลี่ยนจากประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) ไปเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Country) และเงินลงทุนต่าง ๆ ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งใน Emerging Markets บางประเทศ อาจเป็นประเทศที่เพิ่งจะเปิดประเทศหลังจากที่ปิดประเทศมาก่อนอย่างยาวนาน และหลุดพ้นมาจากการเป็น Frontier Markets อย่างเช่นประเทศเวียดนาม ทำให้การเปิดประเทศมีเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) จากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนจากความคาดหวังในศักยภาพที่จะสามารถเติบโตได้อีกในอนาคต
ทำไม Emerging Market ได้รับความสนใจ?
สาเหตุที่ทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนใน Emerging Markets คือผลจากการที่มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ๆ ในแง่ของตัวเลขอัตราส่วนของการขยายตัวในรูปของเปอร์เซ็นต์ (Percentage) ที่เป็นผลจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากเงินที่เข้ามาหมุนเวียนมากขึ้น
โดยสาเหตุที่ทำอัตราเติบโตของประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้สูงก็จะมาจากที่ได้อธิบายไว้ในตอนต้น คือนโยบายรัฐบาลที่ลงทุนอย่างต่อเนื่อง (รัฐบาลใส่เงินเข้ามาในระบบมากขึ้น) และเงินทุนที่ทะลักเข้ามาหลังจากเปิดประเทศ ซึ่งเป็นเงินลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ที่เข้ามายังประเทศเกิดใหม่เหล่านั้น

หน่วย : พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ (Billion USD)
จากกราฟจะเห็นว่า ประเทศเหล่านี้เติบโตค่อนข้างที่จะเร็วในแต่ละปี ถึงแม้ว่า GDP จะไม่ได้สูง แต่เพราะ GDP ที่ไม่สูงมากนี่เองเป็นเหตุที่ทำให้ตัวเลขเติบโตอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างเช่น ถ้าหากอเมริกา GDP 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การที่จะโตปีละ 10% ได้ ต้องหาเงินเข้าประเทศและต้องลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจมากแค่ไหน กลับกันประเทศกำลังพัฒนาประเทศหนึ่ง GDP 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การที่โตปีละแค่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นก็เพียงพอที่จะเรียกว่าโตปีละ 100% แล้ว ส่วนนี้เองเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจกับประเทศใน Emerging Market
นอกจากนี้ ถ้ามองในแง่การลงทุนในตลาดทุน ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) อย่างสหรัฐอเมริกา บริษัทหลายบริษัทอยู่ในระดับที่เรียกว่าโตเต็มที่ ยากที่จะโตแบบก้าวกระโดดได้อีก (ซึ่งจะเห็นว่าค่า P/E ของบริษัทใหญ่ตอนนี้อยู่ในระดับร้อยเท่าทั้งนั้น) ทำให้โอกาสที่บริษัทจะกำไรแบบก้าวกระโดดได้อีกค่อนข้างยาก
ในขณะที่ตลาดหุ้นของประเทศในกลุ่ม Emerging Market ยังคงอยู่ในจุดเริ่มต้น ทำให้นักลงทุนเข้าไปแสวงหาโอกาสที่ราคาหุ้นจะโตต่อไปในอนาคต ซึ่งส่วนนี้เองเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่นักลงทุนให้ความสนใจในกลุ่มประเทศ Emerging Markets แม้ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วอนาคตภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม
Emerging Markets มีประเทศอะไรบ้าง
ประเทศในกลุ่ม Emerging Markets คือ สิ่งที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละผู้วิเคราะห์หรือผู้จัดกลุ่ม แล้วว่าแต่ละสถาบันจะนับประเทศไหนเข้ามาใน Emerging Market บ้าง ซึ่งจะแตกต่างกันอยู่ไม่มากนักและโดยทั่วไปมักจะประกอบด้วยประเทศต่อไปนี้
กลุ่มประเทศแถบเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เวียดนาม ไต้หวัน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้
กลุ่มประเทศแถบยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ได้แก่ รัสเซีย ตุรกี สาธารณรัฐเช็ก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรีซ อียิปต์ ฮังการี โปแลน กาตาร์ แอฟริกาใต้
กลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกา ได้แก่ บราซิล ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก เปรู
จากตารางด้านล่างจะเป็นประเทศ Emerging Markets ตามเกณฑ์ของ IMF, BRICS, FTSE, S&P, MSCI, EM Bond Index, Dow Jones, Russell และ Columbia University EMGP ซึ่งตารางจะแสดงให้เห็นว่าแต่ละสถาบันนับประเทศไหนเป็น Emerging Markets บ้าง

หมายเหตุ: ข้อมูลอัพเดทครั้งล่าสุดวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 (ข้อมูลอ้างอิงจาก Wikipedia)
ประเทศ Emerging Markets ที่ใหญ่ที่สุด
กลุ่มประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม Emerging Markets จะมีอยู่ 4 ประเทศ โดยจะเรียกประเทศกลุ่มนี้ว่า BRIC ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน (BRIC ที่ย่อมาจาก Brazil Russia India และ China)
สำหรับทั้ง 4 ประเทศในกลุ่ม BRIC มีสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด ดังนี้
- จีน 33%
- อินเดีย 9%
- บราซิล 6%
- รัสเซีย 4%