Economic Order Quantity หรือ EOQ คืออะไร?
EOQ คือ Economic Order Quantity หมายถึงการสั่งซื้อที่ประหยัด เป็นจำนวนการสั่งซื้อที่ประหยัดที่สุดในการสั่งซื้อสินค้าแต่ละครั้ง เพื่อบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory) ไม่ให้มีสินค้าคงคลังเหลือมากหรือน้อยเกินไปเมื่อพิจารณาจากยอดขายในอดีต ระยะเวลารอสินค้ามาส่ง และต้นทุนการเก็บรักษาสินค้า
ประโยชน์ของ Economic Order Quantity หรือ EOQ คือ ทำให้สามารถรู้ว่าการสั่งซื้อสินค้าจำนวนเท่าใดจึงจะเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุดเมื่อพิจาณาจากยอดขาย ระยะเวลารอสินค้ามาส่ง และต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้า
เพราะการที่มีสินค้าคงคลัง (Inventory) เหลือมากเกินไปจะทำให้ต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้ามากขึ้นเกินความจำเป็น ในขณะสินค้าคงคลังที่เหลือน้อยเกินไปก็อาจทำให้สินค้าหมดและเสียโอกาสในการขายหรืออาจทำให้ลูกค้าหันไปใช้สินค้าทดแทน และอาจจะไม่กลับมาใช้สินค้านี้อีก
ถึงแม้ว่าการสั่งซื้อที่ประหยัดหรือ Economic Order Quantity คือ เครื่องมือที่ช่วยให้สามารถสั่งสินค้าได้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่ข้อระวังคือ EOQ อาจจะคลาดเคลื่อนได้ในกรณีที่ประมาณการสินค้าที่ต้องการใช้ในแต่ละปี (D) มากหรือน้อยเกินไปจากความเป็นจริง
สูตร EOQ
ในการคำนวณหา จำนวนการสั่งซื้อที่เหมาะสม หรือ conomic of Quantity (EOQ) จะเป็นการคำนวณจาก ปริมาณความต้องการสินค้าทั้งปี ค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อแต่ละครั้ง และต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้าต่อหน่วยต่อปี
โดยสามารถคำนวณหาค่า EOQ ได้จากสูตรต่อไปนี้ EOQ = √((2xDxS)÷H)

จากสมการ สูตร EOQ ด้านบนแต่ละตัวแปรมีความหมายดังนี้:
- D คือ ปริมาณความต้องการสินค้าทั้งปี
- S คือ ค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อแต่ละครั้ง
- H คือ ต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้าต่อหน่วยต่อปี
ตัวอย่าง การคำนวณ EOQ
ตัวอย่างเช่น บริษัท API มีความต้องการสินค้าต่อปีเท่ากับ 2000 หน่วย โดยต้นทุนในการสั่งซื้อแต่ละครั้งเท่ากับ 20 บาท และมีต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้า 1 บาทต่อหน่วยต่อปี
จากตัวอย่างจะเห็นว่า จากสมการ EOQ = √((2x2000x20)÷1) แต่ละตัวแปรมีค่าดังนี้:
- D = 2000
- S = 20
- H = 1
เมื่อแทนค่าลงในสมการ EOQ = √((2x2000x20)÷1) จะได้ค่า Economic Order Quantity หรือ EOQ คือ 283
สรุป จำนวนในการสั่งซื้อที่ประหยัดของบริษัท API หรือ EOQ คือ การสั่งครั้งละ 283 ชิ้น
นอกจากนี้ค่า EOQ หรือ จุดสั่งซื้อที่ประหยัด ยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้หาค่าอื่นที่เกี่ยวข้องได้อีก อย่างเช่น จำนวนครั้งในการสั่งซื้อของปีนั้น ระยะเวลาห่างในการสั่งซื้อแต่ละครั้ง เป็นต้น
จำนวนครั้งในการสั่งซื้อตลอดทั้งปี
จำนวนครั้ง = D ÷ EOQ
จากตัวอย่างด้านบนจะได้เป็น 2000 ÷ 283 = 7 ครั้งต่อปี หมายความว่า ใน 1 ปี จะต้องสั่งซื้อทั้งหมด 7 ครั้ง
ระยะเวลาในการสั่งซื้อ
ระยะเวลาในการสั่งซื้อ = จำนวนวันทำงานในปีนั้น ÷ จำนวนครั้งที่สั่ง
จากตัวอย่างเดิมจะได้ 250 ÷ 7 = 36 วันสั่งหนึ่งครั้ง หรือหมายความว่าในทุก 36 วัน บริษัท API จะมีการสั่งซื้อ 1 ครั้ง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง (Inventory) และปัญหาสินค้าคงคลังได้ที่บทความ สินค้าคงคลัง คืออะไร? Inventory มีต้นทุนอะไรเกิดขึ้นบ้าง