GreedisGoods » Investment » ESG คืออะไร? ทำไมช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ

ESG คืออะไร? ทำไมช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ

ทำไมธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social), และธรรมาภิบาล (Governance) ถึงยั่งยืนและเป็นที่สนใจของนักลงทุน

by Kris Piroj
ESG คือ แนวคิด การลงทุนแบบ ESG Sustainable คือ หุ้น ESG Integration คือ Environmental Social Governance

ESG คืออะไร?

ESG คือ แนวคิดในการเลือกลงทุนในธุรกิจที่ยังยืน (Sustainable Investing) โดยการพิจารณาจากผลการดำเนินงาน 3 ด้านที่เป็นประเด็นในด้านการรับผิดชอบสังคมของธุรกิจ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)

การเลือกลงทุนบนพื้นฐานของแนวคิด ESG นักลงทุนจะใช้ทั้ง 3 ปัจจัยของ ESG ในการประเมินมูลค่าธุรกิจและตัดสินใจลงทุนควบคู่ไปกับปัจจัยด้านการเงินแบบดั้งเดิม เพื่อค้นหาธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ส่วนด้านธุรกิจที่นำแนวคิด ESG มาใช้ในการบริหารงานก็จะดำเนินงานบนพื้นฐานของหลักการ ESG บูรณาการไปกับการดำเนินงานหลักของธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน

สาเหตุที่ ESG คือ แนวคิดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบันจากทั้งนักลงทุนและจากธุรกิจ มาจากการที่ปัจจุบันประเด็นเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสภาพแวดล้อมที่เริ่มเห็นผลจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะหลัง

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจคือการลงทุนในบริษัทที่ดำเนินงานด้วยหลัก ESG พบว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ เนื่องจากการที่บริษัทสามารถระบุปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนของบริษัทได้แล้วย่อมส่งผลต่อศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

อย่างในตลาดหุ้นไทยเองก็มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืนหรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) สำหรับเป็นตัวเลือกให้กับนักลงทุนที่ลงทุนบนแนวคิดการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Investment) และบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทก็ได้มีการนำข้อมูลด้าน ESG มาจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) เพื่อเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชน ควบคู่กับรายงานข้อมูลทางการเงิน

Environmental (ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม)

Environmental คือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับทุกสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากในทุกธุรกิจย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้น จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในทุกธุรกิจมีส่วนในการทำร้ายโลกไม่มากก็น้อย

ในประเด็นด้าน Environmental ของแนวคิด ESG จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของธุรกิจให้คุ้มค่าที่สุด และทำให้ผลเสียจากการดำเนินธุรกิจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ตัวอย่างการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความพยายามในการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาให้น้อยที่สุดจากการดำเนินงาน, การลดปริมาณการใช้กระดาษ, การปลูกป่าทดแทน, บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การรีไซเคิลหรือทำให้สามารถรีไซเคิลได้, และการลด ละ เลิก บางสิ่งที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

Social (ความรับผิดชอบต่อสังคม)

Social คือ ประเด็นด้านสังคมที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็น ผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

ตัวอย่างในประเด็นด้านสังคม (Social) ของแนวคิด ESG เช่น ค่าตอบแทนที่ยุติธรรม, การรักษาข้อมูลของลูกค้าอย่างปลอดภัย, การให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน, มาตรฐานด้านสุขภาพและสภาพความปลอดภัยในการดำเนินงาน, ความพึงพอใจของลูกค้า, จริยธรรมในการโฆษณาของแบรนด์, และความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนรอบข้าง

เพราะธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจย่อมมีแนวโน้มที่การดำเนินงานของธุรกิจจะเป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าของธุรกิจ

Governance (ธรรมาภิบาล)

Governance คือ ประเด็นในด้านธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเรื่องของความโปร่งใสในการบริหารดำเนินงานของธุรกิจ รวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและการตรวจสอบ เพื่อผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดของธุรกิจ (Stakeholder)

โดยประเด็นในด้านธรรมาภิบาล (Governance) สามารถประเมินได้จากปัจจัยอย่างเช่น ความโปร่งใสในการดำเนินงานภายในบริษัท, วัฒนธรรมองค์กร, กฎระเบียบ, สัดส่วนและนโยบายในการแบ่งผลตอบแทน, วิธีการจัดการในเรื่องภาษี, และโครงสร้างผู้บริหาร


ทำไม ESG สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ?

บริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของ ESG คือ บริษัทประเภทที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาจากการทำกิจกรรมอะไรก็ตามในการดำเนินธุรกิจ เพราะการไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นย่อมมีผลเสียตามมาในท้ายที่สุด และผลเสียที่ตามมาก็จะส่งต่อการดำเนินงานของธุรกิจในอนาคต

หากยังไม่เห็นภาพให้คุณจินตนาการบริษัทหนึ่งขึ้นมา โดยบริษัทดังกล่าวอาจจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยหรือดีกว่าก็ได้ แต่บริษัทดังกล่าวทำทุกอย่างตรงข้ามกับแนวคิด ESG ตัวอย่างเช่น

  • บรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่เน้นราคาถูก แต่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
  • สภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานไม่ถูกหลักอาชีวอนามัย อีกทั้งยังให้ค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม
  • ไม่สนใจชุมชนรอบข้างแอบปล่อยน้ำเสียและควันพิษในเวลากลางคืน รวมถึงให้พนักงานจอดรถข้างถนนเพื่อที่จะได้ไม่เสียพื้นที่ไปกับการทำลานจอดรถของบริษัท
  • การบริหารที่ไม่โปร่งใสมีการทุจริตในหลายโครงการภายในบริษัท ตั้งแต่การจัดซื้อ ไปจนถึงการคัดเลือกและการเลื่อนตำแหน่งพนักงาน
  • ไม่มีการป้องกันที่ดีในการเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้า
  • มีการแต่งบัญชีเพื่อทำให้บริษัทมีรายได้ต่ำกว่าตัวเลขจริง เพื่อการเลี่ยงภาษี

จะเห็นว่าบริษัทในลักษณะนี้แม้ว่าในระยะสั้นจะมีผลประกอบการที่ดีเหนือคู่แข่ง แต่เมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Shareholder) รับรู้ถึงพฤติกรรมหรือทนต่อพฤติกรรมเหล่านั้นของบริษัทไม่ได้อีกต่อไป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ผู้จัดหาวัตถุดิบ พนักงาน ลูกค้า และนักลงทุน ก็จะหนีไปหาบริษัทอื่นที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนกว่าแทนในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ ในบางกรณีเรื่องที่เคยทำผิดหมกเม็ดเอาไว้ในอดีตก็อาจจะกลับมาในอนาคต และในท้ายที่สุดบริษัทที่เคยเป็นผู้นำก็จะกลายเป็นผู้ตาม ซึ่งเรื่องในลักษณะนี้เองคือเรื่องของความยั่งยืนแบบเป็นรูปธรรม


ESG กับ CSR เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

ตามที่ได้อธิบายในตอนต้น ESG คือ แนวคิดในการเลือกลงทุนในธุรกิจที่ยังยืน (Sustainable Investing) โดยพิจารณาจากการดำเนินงานของธุรกิจว่าให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social), และธรรมาภิบาล (Governance) หรือไม่อย่างไร

จะเห็นว่าลักษณะของ ESG จะตรงกับกิจกรรม CSR In Process หรือกิจกรรม CSR ที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Shareholder) ตั้งแต่ในกระบวนการดำเนินงานของบริษัท

ในขณะที่ CSR หรือ Corporate Social Responsibility คือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่อความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการดำเนินงานเท่านั้น แต่อาจจะเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบของ CSR After Process หรือ CSR As Process ก็ได้

กล่าวคือถ้าหากบริษัทมีการทำ CSR ในรูปแบบของ CSR In Process อยู่แล้ว นั่นหมายความว่าบริษัทที่ดำเนินงานอยู่บนพื้นฐานของแนวคิด ESG อยู่แล้วนั่นเอง

ข้อมูลบ้างส่วนอ้างอิงจาก: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, U.S. Securities and Exchange Commission

บทความที่เกี่ยวข้อง