Expat คืออะไร?
Expat คือ ชื่อย่อของคำว่า Expatriate หมายถึง การที่บริษัทข้าชาติที่เปิดบริษัทสาขาต่างประเทศ ส่งพนักงานจากประเทศแม่ไปบริหารบริษัทสาขาที่อยู่ในต่างประเทศในตำแหน่งที่สำคัญ แทนที่จะหาคนจากประเทศที่บริษัทสาขาตั้งอยู่มาบริหารบริษัทสาขา
ตัวอย่างเช่น บริษัท GIGS เป็นบริษัทสัญชาติไทยจากประเทศไทยได้ที่เปิดสาขาในประเทศสิงค์โปร บริษัท GIGS ได้ทำการส่ง “นางสาว A” ไปควบคุมดูแลกิจการในประเทศสิงค์โปร จากตัวอย่างเราจะเรียก “นางสาว A” ว่า Expat หรือ Expatriate ที่เแปลว่า “การย้ายไปอยู่ต่างประเทศ”
การใช้ Expat เป็นนโยบายการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศที่นิยมใช้กับธุรกิจระหว่างประเทศที่ดำเนินงานในแบบ Ethnocentric ซึ่งเป็นการบริหารแบบรวมอำนาจการตัดสินใจในเรื่องใหญ่เอาไว้ที่บริษัทแม่ และกระจายการบริหารในสาขาต่างประเทศผ่าน Expat ที่ส่งออกไปประจำในแต่ละสาขา
ข้อดีของ Expat
ข้อดีหลักของการใช้ Expatriate หรือ Expat คือการที่สามารถตอบสนองการบริหารงานบรรษัทข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะของ Ethnocentric ได้ดีกว่า มาดูกันว่าการใช้ Expat ดีต่อการบริหารแบบ Ethnocentric อย่างไรบ้าง:
ไม่มีอุปสรรคด้านภาษาในการสื่อสารกับบริษัทแม่ เนื่องจากพนักงานที่ส่งไปบริหารบริษัทสาขาในต่างประเทศมาจากประเทศแม่ทำให้ใช้ภาษาเดียวกัน ส่งผลให้การติดต่อสื่อสารกันระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูกสามารถทำได้ง่ายกว่าและไม่จำเป็นต้องปรับเข้าหากัน (ถึงแม้ว่าบางประเทศพูดอังกฤษได้ แต่ยังไงภาษาแม่ก็ยังสะดวกกว่า)
เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทแม่อยู่แล้ว ซึ่งจะเหมาะกับบริษัทที่ต้องการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรจากบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูกที่อยู่ต่างประเทศ การใช้ผู้บริหารจากประเทศแม่จะช่วยถ่ายทอดวัฒนธรรมได้
เชื่อใจได้มากกว่า เพราะ Expat เป็นพนักงานที่บริษัทสรรหาและคัดเลือกมาเอง ไม่ใช่ใครที่ไหนไม่รู้ที่หามาจากต่างประเทศ
ในประเทศที่บริษัทสาขาตั้งอยู่ ไม่มีคนที่คุณสมบัติเพียงพอกับตำแหน่ง ดังนั้น Expat จึงเป็นทางออกที่ช่วยทำให้ไม่ต้องเสียเวลาหาคนในประเทศที่มีผู้ที่มีคุณสมบัติเพียงพออยู่ไม่มาก
สร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานในบริษัทแม่ เนื่องจากพนักงานจะรู้สึกว่ามีโอกาสก้าวหน้าด้วยการถูกส่งไปบริหารบริษัทลูกในต่างประเทศด้วยตำแหน่งที่สูงขึ้น ในฐานะ Expatriate
ข้อเสียของ Expat และข้อจำกัด
ในทางกลับกันข้อจำกัดของการส่ง Expat หรือ Expatriate จากประเทศแม่ไปบริหารบริษัทสาขาที่อยู่ในประเทศลูก คือปัญหาจากตัว Expat เองที่เกิดจากคนที่ส่งไปบริหาร โดยทั่วไปปัญหาจาก Expat จะมีดังนี้
พนักงานในบริษัทลูกขาดกำลังใจจากโอกาสในการก้าวหน้า ถึงแม้ว่าพนักงานในบริษัทสาขาจะทำงานดี แต่พนักงานเหล่านั้นก็ต้องเจอกับทางตันของการเลื่อนตำแหน่งในท้ายที่สุด เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงจะถูกส่งมาจากประเทศแม่เท่านั้น
มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เนื่องจากบริษัทต้องจ่ายผลตอบแทนและลงทุนในหลายส่วน ตัวอย่างเช่น ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินเดือนที่อิงตามค่าครองชีพของประเทศนั้น ค่าอบรมพนักงานที่จะส่งไปประเทศสาขา ค่าใช้จ่ายในการขนย้าย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับครอบครัว เป็นต้น
ความเสี่ยงจากการที่ต้องส่ง Expat กลับ จากการที่พนักงานที่ส่งไปไม่สามารถทนอยู่ในประเทศนั้นได้ด้วยเหตุผลบางอย่าง อย่างเช่น เกิดอาการ Culture Shock ซึ่งการส่งพนักงานกลับ (เรียกว่า Repat หรือ Repatriate) จะส่งผลให้เรื่องค่าใช้จ่ายที่พูดถึงในข้อก่อนหน้าสูญเปล่า