Factoring คืออะไร?
แฟคตอริ่ง หรือ Factoring คือ สินเชื่อระยะสั้นรูปแบบหนึ่งที่ผู้ขายสินค้าที่มีลูกหนี้จะโอนลูกหนี้การค้า (ที่ยังไม่จ่ายหนี้) ไปให้กับบริษัทที่รับซื้อลูกหนี้การค้า (ที่เรียกกันว่าบริษัท Factoring) โดยบริษัทที่รับซื้อลูกหนี้ก็จะจ่ายเงินให้กับผู้ขายบางส่วนก่อน (ประมาณ 80-90%)
เมื่อบริษัท Factoring เก็บหนี้ได้หลังจากครบกำหนดเวลาชำระหนี้ บริษัท Factoring ก็จ่ายส่วนที่เหลือให้หลังจากที่สามารถเก็บหนี้ได้ (และผ่านการหักค่าธรรมเนียม)
โดยประโยชน์หลัก Factoring คือ การขายลูกหนี้การค้า เพื่อตัดภาระความเสี่ยงจากลูกหนี้การค้า
อย่างที่หลายคนอาจจะรู้กันว่าในการทำธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจแบบ Business to Business (B2B) หรือธุรกิจระหว่างบริษัทกับบริษัท มักจะชำระค่าสินค้าหรือบริการในลักษณะของ Credit Term หรือการให้สินเชื่อ ซึ่งอาจจะเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 15 ถึง 90 วัน (หรือมากกว่า)
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่มาพร้อมกับการให้ Credit Term จะมีอยู่ 2 ข้อ คือ
- การผิดนัดชำระหนี้
- การขาดสภาพคล่อง (เพราะยังไม่ได้รับเงินจากการขายสินค้า)
จากทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเป็นที่มาของ Factoring ซึ่ง Factoring คือบริการรับซื้อหนี้การค้าที่เป็นสินเชื่อระยะสั้นที่จะทำให้ธุรกิจใช้หลักฐานเอกสารทางการค้า อย่างเช่น ใบสั่งซื้อ ใบแจ้งหนี้ค้างชำระ และใบวางบิล เพื่อแปลงเป็นเงินสดได้สูงสุด 80-90% จากนั้นบริษัท Factoring จะเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ (ลูกค้าของผู้ที่ขายลูกหนี้การค้า) และจ่ายส่วนที่เหลือคืนแก่ผู้ที่ขาย
ประเภทของแฟคตอริ่ง (Factoring)
การทำแฟคตอริ่ง (Factoring) จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
- Factoring ที่ต้องแจ้งให้ลูกหนี้การค้าทราบว่ามีการโอนสิทธิ เรียกว่า Disclosed Factoring
- Factoring แบบที่ไม่ต้องแจ้งให้ลูกหนี้การค้าทราบก่อน เรียกว่า Confidential Factoring
ประโยชน์ของ Factoring
จะเห็นว่าการทำ Factoring ก็จะเป็นการลบความเสี่ยงที่เป็นจุดอ่อนของการให้ Credit Term กับคู่ค้า ทำให้ประโยชน์หลักของ Factoring ประกอบด้วย:
- ไม่ต้องมีภาระในการทวงหนี้ (ในกรณีที่เป็นสัญญาแบบไม่มีสิทธิไล่เบี้ย)
- ได้เงินจากการขายสินค้ามาใช้หมุนเวียนกิจการก่อน (เงินที่บริษัท Factoring จ่ายให้)
Factoring จึงเป็นทางเลือกของธุรกิจในการแก้ปัญหาสภาพคล่องโดยที่ไม่ต้องกู้ธนาคารและไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันในการขอสินเชื่อ (ต้องการเพียงแค่หลักฐานการซื้อขาย) โดยแลกกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยในการใช้บริการบริษัท Factoring
สำหรับผู้ให้บริการแฟคตอริ่ง (Factoring) ในประเทศไทยปัจจุบันจะประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์, ธนาคาร SME Bank, และบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจแฟคตอริ่ง