Fed คืออะไร?
Fed คือ ธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Federal Reserve System หรือระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ โดย Federal Reserve System หรือ Fed มีหน้าที่ในการดูแลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
โดยกรอบหน้าที่ของ Fed ประกอบด้วย การจ้างงานสูงสุด เสถียรภาพระบบการเงิน ควบคุมและดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงิน และดูแลประสิทธิภาพระบบการชำระเงินของสหรัฐอเมริกา
ในการดูแลระบบการเงินภายในประเทศสหรัฐอเมริการของ Federal Reserve System หรือ Fed คือ การดำเนินนโยบายทางการเงินเหมือนกับธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ประกอบด้วย การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, การเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ, การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน, และการออกมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน
นอกจากนี้ ยังรวมถึงหน้าที่ทั่วไปของธนาคารกลาง (Central Bank) อย่างการกำหนดนโยบายการเงินของประเทศด้วยเครื่องมือทางการเงิน อย่างการเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายทางการเงินอื่นๆ และควบคุมสถาบันการเงินที่อยู่ในประเทศ ด้วยการออกกฎต่างๆ เพื่อคุ้มครองประชาชน (เทียบได้กับเป็นตำรวจของธนาคาร)
คณะกรรมการ FOMC
มาตรการของ Fed ทั้งหมดจะถูกตัดสินใจโดยคณะกรรมการ FOMC คือ Federal Open Market Committee หรือ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ
คณะกรรมการ FOMC ของ Fed จะมีกำหนดการประชุมปีละ 8 ครั้ง ซึ่งตารางการประชุมของ FOMC ทั้ง 8 ครั้งจะประกาศเอาไว้ที่เว็บไซต์ Federalreserve.org ตั้งแต่ต้นปีของทุกปี และผลการประชุมของคณะกรรมการ FOMC จะประกาศออกมาทุกครั้งที่มีการประชุม FOMC ผ่านทางเว็บไซต์และ Twitter ของ Federal Reserve
สำหรับส่วนที่ Fed ได้รับความสนใจมากที่สุดจากทั่วโลกคือ นโยบายทางการเงินของ Fed โดยเฉพาะการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) หรือที่เรียกว่า Fed Fund Rate รวมถึงทิศทางของการใช้มาตรการ QE และมาตรการทางการเงินอื่น ๆ จากการประชุม FOMC ในแต่ละครั้ง
ทำไมนโยบาย Fed ส่งผลกระทบทั่วโลก
แม้จะบอกว่า Fed หรือ Federal Reserve System คือ ธนาคารกลาง (Central Bank) ของสหรัฐอเมริกาที่ทำหน้าที่พื้นฐานทั่วไปไม่ได้ต่างจากธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
แต่ด้วยความที่ Fed เป็นธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกและมีอำนาจต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุดในปัจจุบัน การที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดทำให้ในท้ายที่สุดเศรษฐกิจของทุกประเทศจะสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ตัวอย่างเช่น
- ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก (ได้รับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ)
- นำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา (ต้องจ่ายเงินเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ)
- เงินลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในบางประเทศ มาจากเงินลงทุนที่เคลื่อนย้ายจากตลาดทุนของสหรัฐฯ
จากตัวอย่าง ถ้าหาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) จนเงินทุนไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศจนทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ส่งออกที่ต้องส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาอย่างไทยจะได้รับผลกระทบในทางลบ
ในขณะที่เงินลงทุนที่ไหลออกมาจากสหรัฐฯ จากการที่ดอกเบี้ยลดลงก็อาจจะเข้าไปลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)
นอกจากนี้ การที่ Fed ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือการทำ QE ที่เป็นการเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่ส่งผลกับการลงทุนทั่วโลก เพราะเงินดังกล่าวถูกอัดฉีดเข้ามาผ่านการเข้าซื้อพันธบัตร ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวจะเข้าไปหาสินทรัพย์ทางการเงินก่อนที่จะลงไปสู้เศรษฐกิจจริง (Real Sector)
ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐเองที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด, การที่ตลาด Cryptocurrency โตขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2021, และการที่ตลาดหุ้นบางประเทศมีเงินลงทุนมหาศาลไหลเข้ามาจากสหรัฐ
ทั้งหมดคือเหตุผลที่ Fed หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นที่จับตามองจากทั่วโลกจากทั้งนักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ใช่นักลงทุนอย่างธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะกับการที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย ปรับลดดอกเบี้ย และการทำ QE
ข้อมูลอ้างอิงจาก: Federalreserve