อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ คืออะไร?
อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ หรือ Fixed Exchange Rate คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ “คงที่” จากการที่อัตราแลกเปลี่ยนจะถูกกำหนดตายตัวโดยรัฐบาลหรือธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate) จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกลไก Demand และ Supply ของเงิน
ตัวอย่างเช่น สมมติว่าประเทศไทยกำหนดไว้ว่า 25 บาท เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เงินบาทจำนวน 25 บาทก็จะเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนกว่าธนาคารกลางจะประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน
ดังนั้น ในสกุลเงินของประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่หรือ Fixed Exchange Rate จึงไม่มีการแข็งค่า (Appreciation) หรืออ่อนค่า (Depreciation) เหมือนกับประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวนั่นเอง
ข้อดีและข้อเสียของอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่
ข้อดีของ Fixed Exchange Rate หรือ อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ คือการที่ไม่มีความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน หนึ่งในผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้ส่งออกที่ไม่ต้องเสี่ยงกับค่าเงินที่อาจทำให้ขาดทุนหรือทำให้สินค้าขายได้ยาก
ในทางกลับกันข้อเสียของอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate) คือการที่ในระยะยาวมูลค่าของเงินจะวิ่งหามูลค่าที่เงินสกุลดังกล่าวควรจะเป็น ในที่นี้คือสภาพของประเทศที่เป็นสิ่งค้ำประกันมูลค่าเงินในแต่ละสกุล
เมื่อไหร่ก็ตามที่ต่างชาติมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนถูกกำหนดเอาไว้ในอัตราที่ไม่สมเหตุสมผล เงินสกุลที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ก็จะไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป และเกิดการเทขายเงินสกุลดังกล่าวในที่สุด (ไม่ต่างจากการที่เราไม่ต้องการซื้อหุ้นราคา 20 บาท ทั้งที่หุ้นนั้นขายกันจริงอยู่ที่ราคา 5 บาท)
และเมื่อเกิดการเทขายอย่างหนักจนถึงระดับที่ธนาคารกลางของประเทศนั้นควบคุมไม่ได้ก็จะทำให้ค่าเงินหลุดจากราคาที่ตรึงเอาไว้และอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในที่สุดในลักษณะเดียวกับวิกฤตค่าเงินของหลาย ๆ ประเทศที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
จากข้อดีที่ไม่มีความผันผวนของค่าเงิน ทำให้ธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ ต้องรับภาระในการดูแลค่าเงินด้วยการตรึงค่าเงินให้อยู่ในระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องการ เมื่อไหร่ก็ตามที่ธนาคารกลางไม่สามารถตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ได้จุดจบก็จะไม่ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งของประเทศไทยเมื่อปี 2540
ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ในปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Floating Exchange Rate) และระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ ที่บางครั้งมีการควบคุมหรือแทรกแซงโดยรัฐบาลและธนาคารกลางตามสมควร
ประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่
ประเทศไทยในอดีต เคยใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
ประเทศจีนในปัจจุบัน ก็ยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่อยู่ โดยประเทศจีนกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินหยวนแบบคงที่ และกำหนด (เพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับสกุลอื่น) โดยธนาคารกลางของจีน (People’s Bank of China)