อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว หรือ Floating Exchange Rate คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่จะปล่อยให้มูลค่าของอัตราแลกเปลี่ยน “เปลี่ยน” ไปตาม Demand และ Supply ของเงินสกุลนั้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวหรือ Floating Exchange Rate เป็นหนึ่งใน 2 รูปแบบกว้าง ๆ ของอัตราแลกเปลี่ยน
- ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate)
- ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Floating Exchange Rate) ที่กำลังพูดถึงในบทความนี้
สมมติว่าเมื่อวาน เงินไทย 32 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ กลไกที่เกิดขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Floating Exchange Rate) อาจเปลี่ยนไปในลักษณะดังนี้
เมื่อเงินบาทมีความต้องการซื้อ (Demand) มากกว่า ความต้องการขาย (Supply) หรืออธิบายง่าย ๆ คือ คนต้องการแลกเงินสกุลอะไรก็ตามเป็นเงินบาท มากกว่าความต้องการแลกเงินบาทไปเป็นเงินสกุลอื่น ก็จะทำให้มูลค่าของเงินบาทสูงขึ้น หรือก็คือ เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น
ทำให้ในวันนี้อาจจะใช้เงินบาทแค่ 31.50 บาท ก็สามารถแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ในทางตรงกันข้าม เมื่อเงินบาทมีความต้องการขาย (Supply) มากกว่า ความต้องการซื้อ (Demand) หรือ คนต้องการแลกเงินบาทไปเป็นเงินสกุลอื่น มากกว่าความต้องการแลกเงินสกุลอื่นมาเป็นเงินบาท ก็จะทำให้มูลค่าของเงินบาทลดลง หรือ เงินบาทจะอ่อนค่าลง
ทำให้วันนี้อาจจะต้องใช้เงินบาท 33 บาท เพื่อที่จะแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐ
จะเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Floating Exchange Rate) ก็คืออัตราแลกเปลี่ยนในรูปแบบที่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า เงินอ่อนค่า (Currency Depreciation) และเงินแข็งค่า (Currency Appreciation)
ข้อดีของอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว
มูลค่าเงินเป็นไปตามที่ควรจะเป็น ไม่สามารถแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน (อาจทำได้ยาก หรือทำได้ไม่นาน)
ธนาคารกลางของประเทศนั้น มีภาระในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน้อยกว่ากรณีอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่
มูลค่าของเงินสกุลจะสะท้อนสภาพเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวออกมา
ข้อเสียของอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว
อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ไม่ได้นิ่งเหมือนอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ทำให้เกิดความเสี่ยงกับผู้ที่ต้องจ่ายหรือรับชำระเงินระหว่างประเทศ เช่น ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ฯลฯ
สามารถเก็งกำไรได้ และความผันผวนก็จะตามมา ทำให้เกิดปัญหาข้อ 1. ตามมาอีกที