ดอกเบี้ยลอยตัว คืออะไร?
ดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะเปลี่ยนไปตามต้นทุนของสถาบันการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินต้องจ่าย ทำให้ดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) คืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ X% ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ขึ้นอยู่กับต้นทุนของธนาคารที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง
โดยพื้นฐาน อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) คือดอกเบี้ยที่จะถูกอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ที่ประกาศโดยธนาคารกลาง (Central Bank) ของแต่ละประเทศ ซึ่งสำหรับประเทศไทยคือธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand : BoT)
อัตราดอกเบี้ยที่มีผลกับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) จะเรียกว่า อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์จะใช้อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว โดยอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่พบได้บ่อย ๆ จากธนาคารพาณิชย์จะประกอบด้วย MLR MOR และ MRR
MLR หรือ Minimum Loan Rate คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใช้กับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี
MOR หรือ Minimum Overdraft Rate คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใช้กับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี
MRR หรือ Minimum Retail Rate คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใช้กับลูกค้ารายย่อยชั้นดี เป็นอัตราดอกเบี้ยที่หลายคนพบได้บ่อย ๆ ซึ่งก็คือ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัย
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว
สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) จะอยู่ในรูปของชื่อประเภทดอกเบี้ยอ้างอิง +/- X% ตัวอย่างเช่น ดอกเบี้ยกู้บ้านของนาย J คือ MRR +5%
หมายความว่า ถ้าอัตราดอกเบี้ย MRR คือ 6% ดอกเบี้ยทั้งหมดที่นาย J ต้องจ่ายคือ 11% (มาจาก 6% + 5%)
ตัวเลขดอกเบี้ยอ้างอิงอย่าง ดอกเบี้ย MRR จะประกาศโดยธนาคารแต่ละธนาคาร (ประกาศในเว็บของแต่ละธนาคาร)
ส่วน X% ที่ต่อท้ายจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้กู้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ค้ำประกัน ความมั่นคงของฐานะการเงินและการงาน (สำหรับเงื่อนไขในการพิจารณาในส่วนนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร)
ยิ่งผู้กู้มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง อัตราดอกเบี้ยส่วนเพิ่ม X% จะยิ่งสูงตาม ในขณะที่ผู้กู้ที่ความเสี่ยงต่ำ อัตราดอกเบี้ยส่วนเพิ่ม X% ก็จะยิ่งต่ำ
ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) ไม่ว่าจะเป็น MRR MLR MOR หรือ MHR ของผู้กู้แต่ละคนจะไม่เท่ากัน