Forward P/E คืออะไร?
Forward P/E คือ อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (Price to Earning Ratio หรือ P/E) ที่คำนวณมาจากการใช้ราคาหุ้นปัจจุบันหารด้วยคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (Earnings per Share : EPS) ในอนาคตของบริษัทดังกล่าว โดยทั่วไปจะใช้คาดการณ์ในปีงบประมาณถัดไป
กล่าวคือ Forward P/E Ratio = ราคาหุ้นปัจจุบัน ÷ คาดการณ์ EPS ของหุ้นในปีหน้า
โดย Forward P/E เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการคำนวณ P/E Ratio ที่เป็นด้านตรงข้ามที่เรียกว่า Trailing P/E ซึ่งเป็นรูปแบบวิธีคำนวณที่ใช้ข้อมูล EPS ของบริษัทในอดีตมาคำนวณ ทำให้ Forward P/E มักจะพบได้จากบทวิเคราะห์และคำแนะนำในการซื้อหุ้นต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายในการบอกว่าหุ้นนั้น ๆ น่าเข้าไปลงทุนหรือไม่
ซึ่งข้อได้เปรียบของ Forward P/E คือการที่ข้อมูลที่นำมาใช้คำนวณเป็นข้อมูลที่มีความเป็นปัจจุบันมากกว่า เนื่องจากนำข้อมูลที่เป็นคาดการณ์ผลกำไร หรือในบางกรณีคือการใช้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุดมาใช้ (ข้อมูลตั้งแต่ต้นปีจนถึงไตรมาสปัจจุบันนับไปจนครบ 12 เดือน)
ทำให้สิ่งที่เป็นข้อแลกเปลี่ยนระหว่างข้อได้เปรียบของ Forward P/E คือความน่าเชื่อถือและแม่นยำที่ไม่เท่า Trailing P/E ที่ใช้ข้อมูลในอดีตที่เกิดขึ้นจริง
การคำนวณ Forward P/E
Forward P/E คือ คำนวณมาจากการใช้ราคาปัจจุบันของหุ้น (Price) หารด้วยคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (Earnings per Share : EPS) ในอนาคตของบริษัทดังกล่าว ซึ่งมักจะใช้คาดการณ์ในปีงบประมาณถัดไป และสามารถหาได้จากบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ต่าง ๆ บนเว็บไซต์ของนักวิเคราะห์ ข่าว ผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงินการลงทุน และโบรคเกอร์
Forward P/E Ratio = Price ÷ Next 12 months EPS
ตัวอย่างเช่น บริษัท GGS มีราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 80 บาท โดยที่คาดการณ์ของนักวิเคราะห์ B คาดการณ์อัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัท GGS ในปีงบประมาณถัดไปเอาไว้ที่ 10 บาท
ดังนั้น Forward P/E ของบริษัท = 80 ÷ 10 = 8 เท่า
กล่าวคือ ราคาหุ้น GGS ในปัจจุบันต่อ 1 หุ้น คิดเป็น 10 เท่าของกำไร (บาท) ที่นักลงทุนที่ถือหุ้นจะได้รับจาก 1 หุ้น
หรือในอีกความหมายหนึ่ง ถ้าหากนักลงทุน A ซื้อหุ้น GGS ในราคา 80 บาทต่อหุ้นในวันที่คำนวณ โดยที่ราคาหุ้นและผลกำไรในอนาคตของบริษัทไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเงื่อนไขที่ใช้คำนวณ จะทำให้นักลงทุนถึงจุดคุ้มทุนและได้ทุนคืนจากหุ้นในระยะเวลา 10 ปี
Forward P/E บอกอะไร
โดยทั่วไป Forward P/E คือเครื่องมือทางการเงินที่นักลงทุนใช้ในการเปรียบเทียบมูลค่าของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่างรวดเร็ว เพื่อพิจารณาคร่าวว่าปัจจุบันหุ้นของบริษัทมีสัดส่วนราคาเมื่อเทียบกับผลดำเนินงานจริง ๆ เป็นอย่างไรในอนาคต ในการวิเคราะห์ว่าราคาหุ้นดังกล่าวแพงเกินไปแล้วหรือไม่
แต่สิ่งที่ทำให้นักลงทุนใช้ Forward P/E มาจากการที่ Forward P/E สามารถใช้คาดการณ์ว่ารายได้ของบริษัทอาจมีลักษณะอย่างไรในอนาคตที่ Trailing P/E บอกได้ไม่ดีเท่า ในขณะที่อัตราส่วน Trailing P/E ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่บริษัทได้รับในอดีต
เพราะในความเป็นจริงแล้วราคาของหุ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความคาดหวังต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัท การที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจึงเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนคิดว่าหุ้นดังกล่าวจะมีผลประกอบการที่ดีในอนาคต (และในทางตรงกันข้าม)
ดังนั้นแล้ว ในสถานการณ์ที่ต้องการวิเคราะห์ว่าราคาหุ้นในปัจจุบันเป็นกี่เท่าหรืออยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมหรือไม่ทำให้ Trailing P/E อาจช้าเกินไปในมุมมองของใครหลายคน และทำให้ Forward P/E เข้ามามีบทบาทแทน แม้ว่าความแม่นยำจะต่ำกว่าก็ตาม
เมื่อคำนวณ Forward P/E Ratio ด้วยอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS) ในอนาคตจะทำให้เห็นว่าปัจจุบัน P/E ของหุ้นดังกล่าวอยู่ในจุดที่เหมาะสม สูงเกินไป หรือต่ำเกินไปหรือไม่ เพื่อประกอบการวิเคราะห์ในการเปรียบเทียบบริษัท หรือแม้กระทั่งตัดสินใจว่าราคาหุ้นเมื่อเทียบกับผลประกอบการจากที่คาดการณ์อยู่ในระดับที่เหมาะสมจะลงทุน ควรถอนการลงทุน ถือหุ้นต่อไป และหุ้นแพงเกินไปแล้วหรือไม่