ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี คืออะไร?
ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี คือ ระบบเศรษฐกิจที่บุคคลและธุรกิจสามารถแข่งขันกันขายสินค้าและบริการเพื่อทำกำไรโดยปราศจากการแทรกแซงหรือแทรกแซงเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาลหรือหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ เพื่อปกป้องประชาชนและบริหารเศรษฐกิจ
ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีบุคคลมีอิสระในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และสามารถตัดสินใจเลือกที่จะมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมระหว่างกัน ในขณะที่มีกฎระเบียบเพียงเล็กน้อยในการดำเนินธุรกิจ
โดยในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (Free Market Economy) อุปสงค์และอุปทานจะเป็นตัวกำหนดราคาของสินค้าและบริการ และธุรกิจมีอิสระในการกำหนดราคาสินค้าของตนเองตามเงื่อนไขของตลาด
และในกรณีที่ถ้าหากธุรกิจกำหนดราคาสินค้าที่ไม่เหมาะสม กลไกของตลาด (อุปสงค์และอุปทาน) ก็จะทำให้ระดับราคาที่ไม่เหมาะสมกลับเข้าสู่ดุลยภาพในท้ายที่สุด เนื่องจากผู้ซื้อจะเลือกที่จะซื้อสินค้าที่คุณภาพเท่ากันในราคาที่ต่ำกว่า
ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีจึงเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคเอกชนคิดค้นและแข่งขันเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค
ตัวอย่างของตลาดแบบเสรี
ตัวอย่างง่าย ๆ ของระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ให้คุณลองนึกภาพถนนที่เรียงรายไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร และร้านกาแฟ เจ้าของธุรกิจแต่ละคนมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะขายสินค้าหรือบริการอะไร ด้วยราคาเท่าไหร่ และต้องการทำการตลาดอย่างไรก็ได้
ในขณะเดียวกันลูกค้าก็มีอิสระที่จะเลือกธุรกิจที่พวกเขาต้องการสนับสนุนโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ราคา คุณภาพ หรือความสะดวกสบายที่ได้รับ
ในสถานการณ์ดังกล่าว เราจะเห็นว่าธุรกิจต่างกำลังแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงลูกค้า แม้ว่าราคาสามารถตั้งได้อย่างอิสระ แต่ราคาของสินค้าและบริการในท้ายที่สุดจะถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน หากผลิตภัณฑ์ใดเป็นที่ต้องการสูงธุรกิจที่ขายผลิตภัณฑ์เหล่านั้นสามารถตั้งราคาได้สูงกว่า
ในทางกลับกันสำหรับสินค้าขายไม่ดี ธุรกิจอาจจำเป็นที่จะต้องลดราคาของสินค้าลงให้ต่ำกว่าสินค้าแบบเดียวกันในตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า
จะเห็นว่าร้านค้าเหล่านี้รัฐบาลมีบทบาทอย่างจำกัดในการจะเข้าไปควบคุม เว้นแต่ว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จำเป็นต้องแทรกแซง ทั้งหมดทำให้ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของแต่ละธุรกิจบนถนนสายดังกล่าวขึ้นอยู่กับความสามารถในการดึงดูดและรักษาลูกค้า การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง
ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (Free Market) และ ระบบทุนนิยม (Capitalism)
ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (Free Market หรือ Free Enterprise) มักเกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยม (Capitalism) เนื่องจากมีประเด็นในการอนุญาตให้เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและการแสวงหากำไรเพื่อเป็นแรงจูงใจหลักสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีสามารถเกิดขึ้นได้ในระบบเศรษฐกิจที่หลากหลายโดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กับระบบทุนนิยมเท่านั้น
กล่าวคือ ในระบบแบบสังคมนิยม (Socialism) และคอมมิวนิสต์ (Communism) ก็สามารถเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีได้ตราบเท่าที่มีการแทรกแซงจากรัฐบาลเพียงเล็กน้อยในตลาด และปล่อยให้เอกชนสามารถแข่งขันกันได้อย่างที่ควรจะเป็น