GreedisGoods » Finance » FV คืออะไร? วิธีหา Future Value หรือ มูลค่าเงินในอนาคต

FV คืออะไร? วิธีหา Future Value หรือ มูลค่าเงินในอนาคต

by Kris Piroj
FV คือ Future Value คือ มูลค่าเงินในอนาคต คือ สูตร FV

FV คือ มูลค่าเงินในอนาคต หรือ Future Value หมายถึง มูลค่าของเงินจำนวนหนึ่งที่จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเมื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนและได้ผลตอบแทน (Interest) อย่างต่อเนื่องจนครบกำหนดระยะเวลาของการลงทุน

โดย Future Value หรือ FV คือ เครื่องมือทางการเงินที่ใช้สำหรับการวางแผนการลงทุนด้วยการคำนวณหามูลค่าของเงินลงทุนจำนวนหนึ่งเมื่อนำไปลงทุนในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ (Fixed Rate) ว่าจะกลายเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ในอนาคต ตัวอย่างเช่น การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และการฝากเงินกับธนาคาร หรือที่รู้จักกันในชื่อดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest)

และในอีกกรณีของการใช้ประโยชน์สูตร Future Value หรือ FV คือ การหามูลค่าของหนี้ที่ต้องจ่ายพร้อมดอกเบี้ย ในกรณีที่มีการค้างชำระหนี้เป็นเวลานานโดยมีดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่

ตัวอย่างเช่น นางสาว B ค้างชำระหนี้ 10,000 บาท 7 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 5 ต่อปี เมื่อสิ้นปีที่ 7 หนี้ก้อนนี้ของนางสาว B จะกลายเป็นเท่าไหร่

วิธีหา Future Value (FV)

วิธีคำนวณหา Future Value (FV) เพื่อหามูลค่าเงินในอนาคต สามารถทำได้โดยแทนค่าลงไปในสมการของสูตร FV หรือ Future Value = PV x (1+i)^n จากสมการแต่ละตัวแปรมีความหมายดังนี้

  • PV (Present Value) คือ มูลค่าเงิน ณ ปัจจุบันก่อนที่จะนำเงินไปลงทุน หรือพูดง่ายๆก็คือ เงินต้น
  • i คือ ผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน (แปลง % เป็นทศนิยม)
  • n คือ จำนวนปีที่นำเงินไปลงทุน (หรือจำนวนครั้งที่ได้ผลตอบแทนตลอดการลงทุน)
สูตร FV คือ มูลค่าเงินในอนาคต Future Value การเงิน

ตัวอย่างที่ 1 กรณีการลงทุน นางสาว C นำเงินต้น 10,000 บาทฝากธนาคารเป็นเวลา 7 ปี โดยที่ธนาคารให้ดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี มาดูกันว่าเงินของนางสาว C เมื่อสิ้นปีที่ 7 ของการฝากเงินจะมีค่าเท่าไหร่

มูลค่าเงินในอนาคตของนางสาว C หรือ FV จะเท่ากับ Future Value = 10,000 x (1 + 0.05)^7 = 14,071

จากตัวอย่างจะเห็นว่า เมื่อสิ้นปีที่ 7 ของการฝากเงิน Future Value หรือ มูลค่าเงินในอนาคต คือ 14,071 บาท เมื่อเขียน Future Value หรือ FV ของตัวอย่างด้านบนออกมาเป็นเส้นเวลาได้ดังนี้

FV คือ มูลค่าเงินในอนาคต Future Value หมายถึง

ตัวอย่างที่ 2 กรณีของดอกเบี้ยเงินกู้ สมมติว่านางสาว D กู้เงิน 100,000 บาทและผิดนัดชำระหนี้เป็นเวลา 7 ปี ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี สามารถหายอดหนี้ของนางสาว D เมื่อสิ้นปีที่ 7 ได้โดยแทนค่าลงในสมการ Future Value = 100,000 x (1 + 0.05)^7 = 140,710 บาท (เข้าใจถูกแล้วครับ 40,710 บาทคือดอกเบี้ย)

การหา FV กรณีไม่ใช่ผลตอบแทนรายปี

อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงการลงทุนบางอย่างอาจจะไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยแค่ปีละครั้งเท่านั้น แต่อาจจะจ่ายผลตอบแทนทุกไตรมาส ทุกเดือน หรือทุกครึ่งปี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ยังสามารถหาได้ด้วยสูตร FV หรือ Future Value เหมือนเดิม เพียงแต่จะต้องแปลงจำนวน n ให้ได้เท่ากับจำนวนครั้งที่มีการจ่ายดอกเบี้ย

  • ถ้าจ่ายดอกเบี้ยรายปีเป็นเวลา 6 ปี n = 6 x 1 = 6 ครั้ง เพราะจ่ายปีละครั้ง (กรณีรายปีปกติ)
  • ถ้าจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือนเป็นระยะเวลา 6 ปี n = 6 x 12 = 72 ครั้ง (เพราะ 1 ปีมี 12 เดือน)
  • ถ้าจ่ายดอกเบี้ยรายทุก 3 เดือน (ไตรมาส) เป็นเวลา 6 ปี n = 6 x 4 = 20 ครั้ง (เพราะใน 1 ปีมีทั้งหมด 4 ไตรมาส)

จากตัวอย่างเดิม สมมติว่าคราวนี้นางสาว D ได้ผลตอบแทน 5% ทุก 6 เดือนเป็นเวลา 5 ปีจะสามารถคำนวณได้ดังนี้: PV = 500,000 ÷ (1+0.05)^12 = 278,419 บาท

สำหรับใครที่กำลังมองหาวิธีคำนวณว่าถ้าหากในอนาคตต้องการเงินจำนวนหนึ่งด้วยการนำเงินไปลงทุนจะต้องใช้เงินต้นเท่าไหร่ สามารถอ่านวิธีการคำนวณได้ที่บทความ Present Value คืออะไร?


FV สำหรับการหาเงินเฟ้อ

อธิบายแบบสั้นๆ เงินเฟ้อ คือ การที่มูลค่าของเงินลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปเพราะราคาสินค้าเพิ่มขึ้น อย่างเช่น เงินเฟ้อ 2% ต่อปีหมายความว่าราคาสินค้าเพิ่มขึ้นปีละ 2% ทำให้เงิน 100 บาทในปีนี้ไม่สามารถซื้อสินค้าที่ราคา 100 บาทได้อีกแล้ว (เพราะปีนี้ราคาเพิ่มเป็น 102 บาท)

Future Value หรือ FV คือ เครื่องมือที่สามารถใช้คำนวณหามูลค่าเงินในอนาคตของเงินจำนวนหนึ่งที่ถือไว้เฉยๆ โดยไม่นำไปลงทุนว่าจะมีมูลค่าที่แท้จริงเหลืออยู่เท่าไหร่ในอนาคตเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ โดยสามารถใช้ FV คำนวณได้โดยปรับสูตรคำนวณเล็กน้อยเป็น Future Value = PV x (1 – i)^n (เปลี่ยนจาก +i เป็น -i)

ตัวอย่างเช่น นาย A ทิ้งเงิน 1 ล้านบาทเอาไว้โดยไม่ลงทุนเป็นเวลา 10 ปี โดยอัตราเงินเฟ้อของประเทศที่นาย A อาศัยอยู่คือ 2% ต่อปี จะสามารถคำนวณได้ดังนี้ Future Value = 1,000,000 x (1 – 0.02)^10 = 817,073 บาท

หมายความว่า ถ้านาย A ไม่นำเงิน 1 ล้านบาทไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ เงินจำนวนนี้ของนาย A จะมีค่าลดลงเหลือเท่ากับ 817,073 บาทในปัจจุบัน ในอีก 10 ปีข้างหน้า

บทความที่เกี่ยวข้อง