GreedisGoods » Business » Game Business Model บริษัทเกมหาเงินอย่างไร?

Game Business Model บริษัทเกมหาเงินอย่างไร?

by Kris Piroj
Game Business Model รายได้บริษัทเกมมาจากไหน

เชื่อว่าปัจจุบันหลายคนใกล้ชิดกับเกมมากขึ้นหากเทียบกับช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จากการที่เกมมือถือที่เข้าถึงได้ง่ายส่งผลให้เกมได้รับความนิยมมากขึ้นในวงกว้าง

ในบทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจกับ Game Business Model ว่าเกมแต่ละเกมที่หลายคนเล่นหรือไม่ได้เล่น เป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรจากอะไร และมีรายได้มาจากช่องทางใดบ้าง โดยเฉพาะเกมที่บอกว่าเล่นฟรี ที่ในเมื่อเล่นฟรีแล้วบริษัทเกมเหล่านี้หาเงินจากไหน

บริษัทเกมหาเงินจากไหนได้บ้าง?

Game Business Model หรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทเกมในปัจจุบัน สามารแบ่งวิธีหารายได้ออกเป็น 6 วิธี คือ

  1. Pay to Play
  2. Expansion หรือ DLC
  3. Subscribe Based Model
  4. Battle Pass
  5. In App Purchase
  6. Advertisement

Pay to Play

การขายเกมเป็นวิธีที่เรียบง่ายที่สุดที่ผู้สร้างเกมจะได้เงินจากการทำเกม โดยส่วนใหญ่เกมที่ขายจะเป็นเกมระดับ Premium ทั้งบน PC Console และ Mobile ที่คนมองว่าคุ้มค่ากับการซื้อ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าที่จะเป็นเกมที่ได้เงินมาจากการที่คนซื้อเกมแล้ว ก็ยังสามารถหาเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อหารายได้ในการพัฒนาเนื้อหาของเกมในอนาคตด้วยการใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยได้อีกเช่นกัน

Expansion หรือ DLC

Expansion และ DLC เป็นผลต่อเนื่องมาจากการซื้อเกม (Pay to Play) โดย Expansion หรือ DLC (Downloadable Content) เป็นส่วนขยายที่ผู้เล่นจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ แต่ถ้าจะซื้อต้องมีตัวเกมภาคหลักก่อน ซึ่งบางเกมผู้เล่นอาจจะสามารถเลือกที่จะไม่ซื้อก็ได้ ในขณะที่บางเกมถ้าหากไม่ซื้อก็จะไม่สามารถเล่นได้หรือเล่นได้ไม่เท่าผู้เล่นคนอื่นอย่างที่ควรจะเป็น

สำหรับสิ่งที่ผู้เล่นได้จากการซื้อ Expansion และ DLC ส่วนมากจะเป็นเนื้อเรื่องภาคต่อ และคอนเทนต์ใหม่ ๆ ของเกม

ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้วิธีการแบบ Expansion และ DLC ค่อนข้างได้รับความนิยมต่ำเมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ

ตัวอย่างเกมที่มีการขาย Expansion หรือ DLC ได้แก่ The Sim, World of Warcraft, Guild War 2, Diablo, และ Final Fantasy XIV

Subscribe Based Model

Subscribe Based Model คือ เกมในลักษณะที่ต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนหรือรายวันเพื่อเข้าเล่น บางครั้งเรียกว่า Game Time หรือ Air Time เหมือนกับการจ่ายค่า Internet รายเดือนที่ไม่ว่าคุณจะใช้หรือไม่ก็ยังคงมี Fixed Cost รายเดือนเท่าเดิมเสมอ

อย่างไรก็ตามวิธีเก็บค่าบริการแบบ Subscribe เป็นวิธีที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ เนื่องจากถูกมองว่าแพง (ทั้งที่คำนวณออกมาแล้วไม่ได้แพงอย่างที่คิดก็ตาม) และจากการที่คุณจ่ายแล้วเกิดไม่ว่างเล่นหมายถึงคุณเสียเงินฟรี

แต่ในทางกลับกันผู้เล่นก็จะได้รับการอัพเดทเนื้อหาใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้พัฒนาได้รับเงินค่า Subscribe จากผู้เล่นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การที่จะใช้วิธีนี้ได้ต้องเป็นเกมที่ต้องน่าสนใจอย่างมากหรือมีฐานแฟนคลับจำนวนมาก โดยในปัจจุบันเกมที่ให้บริการในลักษณะของการ Subscribe ที่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างมีเพียง World of Warcraft และ Final Fantasy XIV

Advertisement

โฆษณามักจะเห็นได้บ่อย ๆ ในเกมโทรศัพท์มือถือ Free to Play และ Application ฟรี ซึ่งส่วนใหญ่โฆษณาที่แสดงก็เป็นโฆษณาเกมด้วยกันเอง

โดยทั่วไปการหาเงินด้วยโฆษณาของเกมจะมีอยู่ 4 วิธีคือ

  • Banner ติดโฆษณาเหมือนโฆษณาตามเว็บไซต์ที่เห็นกันได้ทั่วไป (พบได้ใน Application มากกว่าเกม)
  • Pop-up ที่จะแสดงโฆษณาทุกครั้งที่ผ่านด่าน ส่วนจะเด้งขึ้นมาบ่อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับแต่ละเกม
  • การกดดูเพื่อแลกไอเทมในเกม ไม่ได้บังคับเหมือน Pop-up ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะดูวิดีโอโฆษณาเกมหรือไม่ก็ได้ เพื่อแลกกับ Item ในเกม
  • จ่ายเงินแลกกับไม่ต้องดู สิ่งที่มาพร้อมกับโฆษณาในเกมก็คือการจ่ายเงินสนับสนุนแลกกับการไม่ต้องเจอ Banner หรือ Pop-up

อย่างไรก็ตาม โฆษณาในเกมไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ในวงกว้าง (ยกเว้นการกดดูเพื่อแลกของในเกม) เนื่องจากมีโอกาสทำให้ผู้เล่นรำคาญแล้วลบเกมทิ้งไปในที่สุด แต่ก็ยังคงได้รับความนิยมในเกมโทรศัพท์มือถือที่ปล่อยให้เล่นได้ฟรี

Battle Pass หรือ Season Pass

Season Pass หรือ Battle Pass คือ การสร้างเป้าหมายให้ผู้เล่นด้วยการกำหนดระดับ Level เอาไว้ เมื่อผู้เล่นทำตามเงื่อนไขดังกล่าวครบตามที่กำหนดระดับ Level จะเพิ่มขึ้น เมื่อผู้เล่นมีระดับ Level ของ Battle Pass เพิ่มขึ้นก็จะได้รับรางวัลของ Level นั้น ๆ

การใช้ระบบ Season Pass หรือ Battle Pass นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถขายบริการในเกมเพิ่มเติมได้แล้ว ยังช่วยสร้างเป้าหมายให้ผู้เล่นเล่นเกมต่อไปเพื่อทำให้ Battle Pass มี Level เพิ่มขึ้นตามที่ต้องการต่อไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ Battle Pass เป็น In App Purchase หรือการซื้อบริการเพิ่มเติมภายในเกมรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นใน Game Business Model ในปัจจุบัน (แม้ว่าจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปไม่มากก็น้อยในแต่ละเกม)

Game Business Model รายได้ของเกม Battle Pass
ตัวอย่าง Battle Pass จาก Dota 2

In App Purchase

การขายสินค้าในเกมเป็นวิธีสร้างรายได้ของค่ายเกมที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะเกมที่เป็นเกมฟรี (Free to Play) เรียกได้ว่าเป็นรายได้หลักของเกมฟรีเลยก็ว่าได้ โดยสิ่งที่ขายอยู่ในเกมอาจทำให้ความสามารถของคุณเหนือกว่าคนอื่น หรืออาจจะเป็นเพียงชุดที่มีประโยชน์เพียงแค่ความสวยงามโดดเด่น

โดยรูปแบบของ In App Purchase ที่พบได้บ่อยใน Game Business Model ทั่วไปในปัจจุบัน ได้แก่

  • Skin เป็นการซื้อชุดสำหรับแต่ตัวให้กับตัวละครหรือเปลี่ยนรูปลักษณ์ของไอเทมในเกมอย่างเช่นอาวุธ
  • Loot Box หรือ Gacha เป็นการเปิดกล่องสุ่มเพื่อที่จะได้รับสิ่งของบางอย่างในเกม เช่น Skin, เหรียญในเกม, และไอเทมอื่น ๆ ซึ่งการขาย Loot Box ในหลายประเทศเริ่มมีการออกมาตรการควบคุมเพราะคล้ายกับการพนัน อีกทั้งหลายเกมก็ไม่ได้การันตีว่าเปิดแล้วจะได้
  • Season Pass หรือ Battle Pass คือ การซื้อไอเทมที่มักจะมีชื่อลงท้ายด้วย Pass ต่าง ๆ ตามที่ได้อธิบายในหัวข้อก่อนหน้า

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด