GDP และ GNP แตกต่างกันอย่างไร
GDP และ GNP แตกต่างกันที่ขอบเขตในการนับมูลค่าการผลิตที่เกิดขึ้น โดย GDP จะนับรวมการผลิตทุกอย่างในประเทศโดยไม่สนใจว่าคนชาติใดจะเป็นผู้ผลิต ในขณะที่ GNP คือการผลิตที่เกิดขึ้นโดยทรัพยากรจากประเทศนั้น ๆ โดยไม่สนใจว่าจะไปผลิตที่ประเทศใดในโลก
กล่าวคือ GDP (Gross Domestic Product) และ GNP (Gross National Product) ต่างกันที่วิธีนับรวมผลิตที่ได้ โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
- GDP คือ มูลค่าของการผลิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในประเทศ (Domestic) โดยไม่สนใจว่าคนชาติใดจะเป็นผู้ผลิต
- GNP คือ มูลค่าของการผลิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยทรัพยากรของคนในประเทศนั้น โดยไม่สนใจว่าจะไปผลิตที่ประเทศใดในโลก
GDP (Gross Domestic Product) จึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการชี้วัดว่าเศรษฐกิจของทั้งประเทศ (ในช่วงเวลานั้น) มีมูลค่าเท่าไหร่ หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้นคือมีเงินหมุนเวียนในประเทศที่เกิดจากการใช้จ่ายหรือการผลิตในช่วงเวลานั้นเท่าไหร่ (ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับว่าวัด GDP ด้วยวิธีไหน) ซึ่งตัวเลข GDP มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหรือไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วว่าเติบโตขึ้นหรือลดลงเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้อธิบายเอาไว้ในตอนต้น GDP จะนับรวมการผลิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการผลิตของบริษัทในประเทศ หรือบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ ทำให้ในบางกรณีมูลค่า GDP ที่มหาศาลอาจเกิดขึ้นเพราะการที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน อย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศที่เป็นฐานการผลิตต่าง ๆ
การวัดด้วยตัวเลข GNP (Gross National Product) ที่เป็นมูลค่าการผลิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยทรัพยากรของคนในประเทศนั้นไม่ว่าจะผลิตที่ประเทศใดในโลก จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วมูลค่าเศรษฐกิจของชาติดังกล่าวมีมูลค่าเท่าไหร่หากไม่มีต่างชาติเข้ามาลงทุนนั่นเอง
ดังนั้น ในกรณีที่มูลค่า GDP ที่สูงกว่า GNP อาจหมายความได้ว่ามูลค่าเศรษฐกิจของประเทศนั้นสูงเพราะมีประเทศอื่นเข้ามาลงทุนในประเทศดังกล่าวเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น ประเทศกำลังพัฒนาที่ต่างชาติเข้ามาใช้ประเทศเหล่านั้นเป็นฐานการผลิต
ในทางกลับกันที่ประเทศที่มีมูลค่า GNP สูงกว่า GDP อาจหมายความว่าเป็นประเทศที่กระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อใช้ประเทศอื่นๆ เพื่อใช้ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตหรือการขนส่ง อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา
Gross Domestic Product
GDP คือ ชื่อย่อของ Gross Domestic Product หมายถึง ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ที่คำนวณมาจากมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง โดยไม่สนว่าคนชาติใดเป็นผู้ผลิตขึ้น แค่ผลิตในประเทศนั้นก็นับว่าเป็น GDP ของประเทศนั้น
ตัวอย่างเช่น บริษัท AAA เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ถึงแม้ว่าบริษัท AAA จะส่งรายได้กลับประเทศแม่ แต่รายได้ของบริษัท AAA ก็ยังถูกนับว่าเป็น GDP ของประเทศไทยเพราะการผลิตของบริษัท AAA เกิดขึ้นที่ประเทศไทย
มูลค่า GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จะคำนวณมาจาก การบริโภคภาคประชาชน (Consumption) + การลงทุนของเอกชน (Investment) + การลงทุนจากรัฐบาล (Government) + การส่งออก (Export) – การนำเข้า (Import)
หรือเขียนเป็นสมการ GDP ที่หลายคนคุ้นเคยได้ดังนี้: GDP = C + I + G + (X – M)
Gross National Product
GNP คือ ชื่อย่อของ Gross National Product หมายถึง ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ เป็นมูลค่าของผลผลิตที่เกิดจากชาตินั้นๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะผลิตขึ้นที่ประเทศใดในโลกก็ตาม
ตัวอย่างเช่น นางสาว C เป็นคนสัญชาติไทยเข้าไปลงทุนในประเทศอังกฤษ รายได้ของนางสาว C จะนับเป็น GNP ของประเทศไทย (ในขณะเดียวกันก็จะนับว่าเป็น GDP ของประเทศอังกฤษ)
มูลค่า GNP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ เป็นตัวเลขที่คำนวณมาจาก การบริโภคภาคประชาชน (Consumption) + การลงทุนของเอกชน (Investment) + การลงทุนจากรัฐบาล (Government) + การส่งออก (Export) – การนำเข้า (Import) + รายได้ของผู้ที่อยู่นอกประเทศ – รายได้ของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ
หรือถ้าหากอธิบายให้ง่ายกว่านั้น GNP ก็คือ GDP – รายได้ของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ + รายได้ของผู้ที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ