GreedisGoods » Economics » GDP คืออะไร? Gross Domestic Product บอกอะไร

GDP คืออะไร? Gross Domestic Product บอกอะไร

by Kris Piroj
GDP คือ Gross Domestic Product คือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจ

ตัวเลข GDP เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจสุดคลาสสิคที่พบได้บ่อยในข่าวเศรษฐกิจมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกันว่า GDP หรือ Gross Domestic Product คืออะไร? คำนวณมาจากไหนและบอกอะไรบ้าง ทำไมทั่วโลกถึงใช้ GDP เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี

Key Takeaways

  • GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product คือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งคำนวณมาจากสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตขึ้นภายในประเทศภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง คิดค้นโดย Simon Kuznets เมื่อปี 1934
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP คำนวณมาจาก การใช้จ่ายภาคครัวเรือน (Consumption) + การลงทุนของธุรกิจ (Investment) + การใช้จ่ายภาครัฐ (Government) + การส่งออกสุทธิ (Net Export)
  • เรียกได้ว่า GDP คือ ตัวเลขที่ใช้แทนมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับบอกภาพรวมของสภาพเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันยังคงเป็นดัชนีชี้วัดขนาดเศรษฐกิจที่ใช้มากที่สุด
  • อัตราการเติบโตของ GDP ที่เป็นบวกหมายความว่าในเศรษฐกิจมีการผลิตและการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือเศรษฐกิจดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามอัตราการเติบโตของ GDP ที่ติดลบคือการจับจ่ายใช้สอยลดลงหรือเศรษฐกิจหดตัวจากช่วงก่อนหน้า

เลือกอ่านหัวข้อที่ต้องการ

GDP คืออะไร?

GDP คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product) หมายถึงมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตขึ้นภายในประเทศภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่างเช่น 1 ไตรมาส 6 เดือน และ 1 ปี โดยไม่สนว่าคนจากชาติใดจะเป็นผู้ผลิตและใช้ทรัพยากรจากชาติใดผลิตสินค้าหรือบริการดังกล่าว ขอเพียงแค่ผลิตภายในประเทศก็จะนับว่าเป็น GDP ของประเทศนั้น

Gross Domestic Product หรือ GDP คือ ตัวเลขที่ใช้บอกขนาดของเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมที่สุดในปัจจุบัน รวมถึงใช้ในการบอกการเติบโตและการหดตัวของเศรษฐกิจเมื่อเปรียบเทียบกับอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยมูลค่า GDP คือสิ่งที่คำนวณมาจาก 4 ส่วน ได้แก่ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน (Consumption), การลงทุนของธุรกิจ (Investment), การใช้จ่ายภาครัฐ (Government) และรายได้จากการค้าระหว่างประเทศ (Net Export) หรือที่รู้จักกันในสมการ GDP = C+I+G+(X-M)

มูลค่า GDP (Gross Domestic Product) ที่คำนวณออกมาจะมีหน่วยเป็นสกุลเงิน อย่างเช่น GDP ประเทศไทยก็จะมีหน่วยเป็นบาท ดังนั้นถ้าหากในปี 2561 มูลค่า GDP ของประเทศไทย คือ 16 ล้านล้านบาท หมายความว่ามูลค่าของระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ทั้งปีคือ 16 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบัน GDP ประเทศไทยมีผู้รับผิดชอบในการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล GDP คือสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทั้งในรายไตรมาสและรายปี


GDP บอกอะไร

ตัวเลข GDP คือ เครื่องมือที่ใช้สำหรับบอกมูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในประเทศภายในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างที่อธิบายไปในตอนต้นตามชื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยสิ่งที่ GDP บอกได้มากที่สุดคือการใช้จ่ายภายในประเทศของทุกภาคส่วนซึ่งได้แก่ ประชาชน ธุรกิจ และรัฐบาล

การที่ตัวเลข GDP (Gross Domestic Product) เพิ่มขึ้นหรือลดลงก็จะเป็นผลมาจากการใช้จ่ายเหล่านี้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งสะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค ณ เวลานั้น

โดยการใช้จ่ายของประชาชน (C) จะสัมพันธ์กับการจ้างงานหรือการลงทุนจากภาคธุรกิจ (I) เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนมีเงินสำหรับการจับจ่ายใช้สอย ในขณะที่การใช้จากภาคการลงทุนของธุรกิจก็จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามกำลังซื้อของภาคประชาชน ยิ่งประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยธุรกิจก็ยิ่งมีโอกาสในการทำกำไร ซึ่งนำไปสู่การลงทุนขยับขยายธุรกิจและนำไปสู่การจ้างงานวนเป็นวัฏจักร

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของการอ่านค่า GDP คือการที่ต้องพิจารณาในแต่ละส่วนของตัวเลข GDP ทั้ง 4 ส่วนประกอบด้วย ว่าแต่ละส่วนมีการเติบโตมากน้อยแค่ไหน และในช่วงเวลาดังกล่าวส่วนไหนเป็นสาเหตุที่ทำให้ GDP สูงหรือต่ำ และเกิดขึ้นเพราะเหตุผลอะไร


อัตราการเติบโต GDP คืออะไร

ตามปกติตัวเลข GDP จะมีหน่วยเป็นสกุลเงินของประเทศ อย่างประเทศไทยก็จะมีหน่วยเป็นบาท สหรัฐก็จะมีหน่วยเป็นดอลลาร์ และอังกฤษก็จะมีหน่วยเป็นปอนด์ ดังนั้น ถ้าหากบอกว่าในปี 2561 มูลค่า GDP ประเทศไทยคือ 16 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่าตลอดทั้งปีเศรษฐกิจของประเทศไทยมีมูลค่าที่เกิดจากการผลิตทั้งสิ้น 16 ล้านล้านบาทนั่นเอง เรียกได้ว่า GDP คือ มูลค่าของเศรษฐกิจ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณอ่านข่าวเกี่ยวกับ GDP มักจะพาดหัวในลักษณะ “ไตรมาสที่ 1 เศรษฐกิจไทย หดตัว 10% จากไตรมาสที่แล้ว” ซึ่งจะหมายถึง GDP ไทยในไตรมาสที่ 1 หดตัว 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ไม่ได้บอกเป็นในรูปตัวเงินว่ามีมูลค่ากี่บาท

เราเรียกเปอร์เซ็นต์ที่เห็นใน GDP ว่า “อัตราการเติบโตของ GDP หรือ GDP Growth” เป็นการเทียบ GDP ในช่วงเวลาปัจจุบันกับช่วงเวลาก่อนหน้า โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีที่พบได้บ่อย คือ

  1. Year on Year หรือ YoY เป็นการเทียบ GDP ปัจจุบันกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
  2. Quarter on Quarter หรือ QoQ คือ การเทียบ GDP กับไตรมาสก่อนหน้า

การเติบโตของ GDP เป็นบวก หมายความว่า มูลค่าของ GDP เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาก่อนหน้าที่เรานำตัวเลข GDP ปัจจุบันไปเปรียบเทียบ พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ เศรษฐกิจมีการเติบโต โดยอาจเป็นผลจากการใช้จ่ายที่มากขึ้นทำให้มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากขึ้น และอาจพูดได้ว่าเศรษฐกิจดีขึ้น

การเติบโตของ GDP ติดลบ หมายความว่า มูลค่า GDP ลดลงจากช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายโดยรวมภายในประเทศลดลง โดยปกติเป็นผลมาจากการที่คนไม่มีเงินซื้อจึงไม่ซื้อหรือชะลอการใช้จ่ายเพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า


GDP คำนวณมาจากอะไร

การคำนวณ GDP (Gross Domestic Product) คือ ผลรวมที่จะคำนวณมาจาก 4 ส่วน ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน (Consumption), การลงทุนของภาคเอกชน (Investment), การใช้จ่ายและการลงทุนจากภาครัฐบาล (Government) และการส่งออกสุทธิ (Net Export หรือ Export – Import) เรียกว่า วิธีการวัดรายจ่าย (Expenditure Approach)

เขียนเป็นสมการได้ดังนี้ GDP = Consumption + Investment + Government + (Exports – Imports) หรือ GDP = C+I+G+(X-I)

มาดูกันว่าทั้ง 4 ส่วนของ GDP คืออะไรและมาจากไหน

Consumption

Consumption (C) คือ การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป (Private Consumption) อธิบายให้ง่ายกว่านั้นก็คือ การใช้จ่ายทั่วไปของภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปเกือบทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในประเทศ (แต่จะไม่รวมถึงการซื้อที่อยู่อาศัยหลังใหม่) ตัวอย่างเช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเช่าบ้าน ค่ายารักษาโรค และการถอยรถยนต์มือ 1 เป็นต้น

รายจ่ายของ GDP ในส่วน Consumption ถือว่าเป็นตัวเลขที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศได้ดีที่สุด เพราะการใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยของคนภายในประเทศ ดังนั้นยิ่งการใช้จ่ายในส่วนนี้สูงก็จะหมายความว่าคนในประเทศมีเงินในการจับจ่ายใช้สอย ในทางกลับกันถ้าหากการใช้จ่ายในส่วนนี้ลดลงหรือชะลอตัวก็จะสะท้อนให้เห็นว่าคนไม่อยากใช้เงินหรือไม่มีเงินใช้ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ

ตามปกติสัดส่วน Consumption จะมีสัดส่วนสูงที่สุดในตัวเลข GDP ของแต่ละประเทศเมื่อเทียบกับอีก 3 ส่วนที่เหลือ เพราะเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการใช้จ่ายของประชาชนคนทั่วไปเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา Consumption จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% หรือ 2 ใน 3 ของมูลค่า GDP ส่วนประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณมากกว่า 50% หรือครึ่งหนึ่งของมูลค่า GDP ทั้งหมด

Investment

Investment (I) คือ การลงทุนของภาคเอกชนซึ่งเป็นการลงทุนในสินค้าทุน ตัวอย่างเช่น การซื้อเครื่องจักร เงินเดือนพนักงาน การซื้อซอฟแวร์บัญชีของบริษัท นอกจากนี้ การซื้อบ้านหลังใหม่ของบุคคลทั่วไปก็จะรวมอยู่ในส่วนของ Investment

อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้วยซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อย่างเช่น หุ้น และ หุ้นกู้ จะไม่ถูกนับว่าเป็นการลงทุน (Investment) แต่จะนับว่าเป็นการออม (Saving) ที่เป็นเพียงการย้ายเงินจากสินทรัพย์หนึ่งไปยังอีกสินทรัพย์หนึ่งไม่ได้มีการใช้จ่ายเกิดขึ้น ทำให้การลงทุนทางการเงินจึงไม่ถูกนับรวมอยู่ใน GDP

สำหรับตัวเลข Investment ที่อยู่ใน GDP ของประเทศไทยส่วนมากจะมาจากธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (Small and Medium Enterprise หรือ SMEs)

Government Spending

Government Spending (G) คือ มูลค่าการใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย เงินเดือนราชการ และค่าใช้จ่ายในการลงทุนของรัฐบาล แต่จะไม่รวมไปถึงรายจ่ายประเภทโอนเงินของรัฐบาล (อย่างเช่น สวัสดิการสังคม และผลประโยชน์การว่างงาน)

สำหรับตัวอย่างง่ายๆ ของค่าใช้จ่ายรัฐบาลที่รวมอยู่ใน GDP ได้แก่ เงินเดือนข้าราชการ การซื้ออาวุธของกลาโหม ซื้อเรือดำน้ำ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินลงทุนสร้างถนนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เป็นต้น

Export – Import

สำหรับ GDP ในส่วนที่ 4 คือ Net Export (มูลค่าการส่งออกสุทธิ) มาจากมูลค่าการส่งออกลบมูลค่าการนำเข้า (Export – Import) หรือที่เรียกกันว่าดุลการค้า (Trade Balance) โดยมูลค่าการส่งออกสุทธิจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ เกินดุลการค้า และ ขาดดุลการค้า

เกินดุลการค้า (Surplus) คือ การที่มูลค่าส่งออกมากกว่าการนำเข้า หรือ มูลค่าการส่งออกสุทธิเป็นบวก เกิดจากการที่ประเทศขายสินค้าให้ต่างประเทศมากกว่าซื้อสินค้าจากต่างประเทศ

ขาดดุลการค้า (Deficit) คือ การที่มูลค่าส่งออกน้อยกว่าการนำเข้า หรือ มูลค่าการส่งออกสุทธิเป็นลบ เกิดจากการที่ประเทศซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากกว่าขายสินค้าให้ต่างประเทศ


อะไรไม่รวมอยู่ใน GDP บ้าง

ถึงแม้จะบอกว่า GDP คือ ตัวเลขที่บอกมูลค่าทั้งเศรษฐกิจของประเทศ แต่ตัวเลข GDP (Gross Domestic Product) ยังคงมีช่องโหว่ที่ทำให้รายได้บางส่วนไม่รวมอยู่ในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ซึ่งเป็นปัญหาด้านการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่สามารถเข้าไปจัดเก็บข้อมูลรายได้เหล่านั้นได้

สำหรับการจับจ่ายที่ไม่ถูกรวมอยู่ใน GDP ได้แก่

  • รายได้ของคนในประเทศที่เกิดนอกประเทศ เช่น นักลงทุนชาวไทยไปเปิดบริษัทอยู่ในประเทศอังกฤษ (กรณีจะนับอยู่ใน GNP หรือ Gross National Product)
  • การซื้อขายนอกตลาดที่ซื้อขายกันด้วยเงินสด
  • สินค้าผิดกฎหมาย เงินจากการพนัน และสินค้าเลี่ยงภาษี ที่ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้

นอกจากนี้ การใช้จ่ายที่ไม่รวมอยู่ใน GDP ยังรวมไปถึงการซื้อสินค้ามือสองที่ไม่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นเพียงการเปลี่ยนมือเจ้าของเท่านั้น และการลงทุนทางการเงินไม่ว่าจะเป็น หุ้น กองทุน หรือตราสารหนี้ ที่ไม่ได้ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม แต่เป็นเพียงการย้ายเงินจากตราสารทางการเงินหนึ่งไปยังอีกตราสารทางการเงินเท่านั้น (ย้ายทีเงินเฉยๆ ไม่ได้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นมา)


GDP per Capita คืออะไร?

GDP Per Capita คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว หรือ GDP ต่อหัว ที่ใช้บอกค่าเฉลี่ยของ GDP เพื่อบอกว่าโดยเฉลี่ยประชากร 1 คนสามารถสร้างมูลค่า GDP ได้เท่าไหร่ คำนวณมาจาก GDP ÷ จำนวนประชากร

อย่างไรก็ตาม GDP per capita มีข้อจำกัดที่สำคัญคือการที่ GDP per capita เป็นค่าเฉลี่ยทำให้ในกรณีที่ประชากรที่มีรายได้แตกต่างกันมาก ผลที่ได้ก็จะออกมาขัดกับความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น ประเทศ B มีประชากร 10 คน และมีรายได้ดังนี้: 100,000 / 100,000,000 / 200,000 / 500,000 / 1,000,000,000 / 550,000 / 100,000 / 100,000 / 200,000 / 150,000

GDP per capita ของประเทศ A ที่มีประชากรแค่ 10 คนจะเท่ากับ 110,190,000 ต่อปีต่อคน ซึ่งจะเห็นว่า GDP per capita ออกมาสูงถึงร้อยล้าน ทั้งที่ในความเป็นจริงอีก 8 คนมีรายได้ไม่ถึงล้าน จากตัวอย่างจะเห็นว่าสิ่งที่ GDP ต่อหัว หรือ GDP per capita ทำได้คือการวัดการกระจายรายได้ประกอบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ


ติดตาม GDP จากไหน?

การติดตามตัวเลข GDP ของแต่ละประเทศสามารถติดตามได้จากสำนักงานสถิติของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าประเทศในแต่ละประเทศหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำตัวเลข GDP

บทความที่เกี่ยวข้อง