GE Model คือ ตาราง 9 ช่องที่เรียกว่า GE Matrix ซึ่งจะแสดงการเลือกใช้กลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Strategy) โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ความน่าดึงดูดของอุตสาหกรรม (Industry Attractiveness) และความแข็งแกร่งของธุรกิจ (Business Unit Strength)
Industry Attractiveness คือ ความน่าดึงดูดของอุตสาหกรรม หมายถึง อุตสาหกรรมหรือตลาดนั้น ๆ อยู่ในระดับใดน่าลงทุนมากน้อยเพียงใด
Business Unit Strength คือ ความแข็งแกร่งของธุรกิจหากเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ธุรกิจของเราอยู่ตรงจุดไหน (เรียกว่า Competitive Position)
โดย GE Model หรือ GE Matrix คิดค้นโดย McKinsey บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับ Top 3 ของโลก (เจ้าของเดียวกับทฤษฎี 7s McKinsey) โดยชื่อ GE ย่อมาจาก General Electric เป็นบริษัทที่จ้างบริษัท McKinsey เป็นที่ปรึกษาเมื่อช่วง 1970s ที่ทำให้เกิด GE Model และ GE Matrix ขึ้นมา
GE Matrix และ GE Model
GE Model จะใช้ตาราง 9 ช่องของ GE Matrix ที่เกิดจากการตัดกันของปัจจัย Industry Attractiveness และ Business Unit Strength เพื่อเลือกกลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Strategy) ที่เหมาะสม
ดังนั้น อันดับแรกการจะเลือกใช้กลยุทธ์ด้วย GE Matrix ได้จะเริ่มจากการวิเคราะห์ Industry Attractiveness และ Business Unit Strength ด้วยเครื่องมือทางกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับให้คะแนนในแต่ละด้านว่ามีภาพรวมอยู่ในระดับสูง กลาง หรือต่ำ
Industry Attractiveness จะมาจากการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและการวิเคราะห์อุตสาหกรรม ด้วยเครื่องมืออย่างเช่น Five Forces Analysis และ EFAS
Business Unit Strength จะมาจากการวิเคราะห์ปัจจัยภายในของธุรกิจ อย่างเช่น Value Chain, 7s McKinsey, และ IFAS

Growth Strategy or Invest
กลยุทธ์ที่จะใช้กับธุรกิจที่ตรงตามช่องสีเขียวจะเป็นกลยุทธ์เกี่ยวกับการเติบโตและการลงทุนเพิ่ม เพื่อทำให้ธุรกิจที่ดีอยู่แล้วดีที่สุดหรือดียิ่งขึ้นไปอีก หรือขยายไปยังธุรกิจอื่น
จากตาราง GE Matrix จะเห็นว่าช่องสีเขียวจะมีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่อยู่ในระดับปานกลางในขณะที่อีกปัจจัยอยู่ในระดับสูง นั่นหมายความว่าองค์กรยังสามารถที่จะขยายต่อไปได้อีกในส่วนส่วนที่ยังอยู่ในระดับปานกลาง
อ่านเพิ่มเกี่ยวกับกลยุทธ์การเติบโต – Growth Strategy
Stability Strategy
ช่องสีเทาจะเป็นกลยุทธ์เกี่ยวกับการ Stability Strategy หรือ กลยุทธ์แบบคงตัว โดยอาจเป็นการหยุดการขยายธุรกิจชั่วคราวเพื่อปรับปรุงหรือแก้ปัญหาภายในองค์กรให้เรียบร้อยก่อนจะขยายธุรกิจต่อไป
เป็นผลจากการที่บริษัทเกิดปัญหาบางอย่างโดยมากจะเป็นปัญหาชั่วคราว เช่น ไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้จนทำให้บริษัทขาดทุนทั้งที่ขายสินค้าได้ปกติ หรือเป็นผลจากการที่ตลาดอยู่ในช่วงชะลอตัวทำให้การขยายกิจการในช่วงนี้ยังไม่คุ้ม
อย่างไรก็ตาม ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้อาจทำให้บริษัทต้องใช้กลยุทธ์ Retrenchment Strategy ต่อไป
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลยุทธ์คงที่ – Stability Strategy
Retrenchment Strategy or Divestment
ช่องสีแดงจะเป็นกลยุทธ์เกี่ยวกับการลดการดำเนินงานหรือลดการลงทุนในส่วนที่ไม่ทำกำไร (Retrenchment Strategy) เนื่องจากช่องสีแดงคือจุดที่ต่ำที่สุดของทั้ง 2 ด้านใน GE Matrix
เป็นกรณีที่แย่ที่สุดของตาราง GE Matrix โดยจากตารางจะเห็นว่าองค์กรอยู่ในระดับต่ำและปานกลางในปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือทั้ง 2 ปัจจัย อธิบายให้ง่ายกว่านั้นก็คือ สิ่งที่ดีที่สุดที่มีเป็นเพียงระดับปานกลางเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลยุทธ์ถอนการลงทุน – Retrenchment Strategy