Global Strategy คืออะไร?
Global Strategy คือ กลยุทธ์ข้ามชาติที่เน้นไปที่การปรับสินค้าให้มีความเป็นสากลเพื่อขายสินค้าแบบเดียวกันทั่วโลก เนื่องจากแนวคิดของกลยุทธ์ข้ามชาติแบบ Global Strategy มองทั้งโลกเป็นตลาดเดียวกัน และต้องการใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ที่เกิดจากการผลิตสินค้าแบบเดียวกันแล้วกระจายไปขายทั่วโลก
กล่าวคือ Global Strategy เป็นกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสากล ในขณะที่ไม่สนการปรับตัวเข้าหาประเทศใดประเทศหนึ่ง
โดยบริษัทที่ใช้กลยุทธ์แบบ Global Strategy จะเลือกฐานการผลิตจำนวนไม่กี่แห่งเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากการต้นทุนคงที่ (Fixed Costs) ในการผลิตสินค้าปริมาณมหาศาล ในขณะที่บริษัทลูกในแต่ละประเทศจะมีหน้าที่เพียงแค่ทำการตลาด การขาย และบริการหลังการขายในแต่ละประเทศเท่านั้น
กลยุทธ์แบบ Global Strategy เป็นแนวคิดที่เป็นด้านตรงข้ามกับ Multidomestic Strategy และคล้ายกับ International Strategy โดยแต่ละกลยุทธ์มีความแตกต่างระหว่างกัน ดังนี้
International Strategy คือการผลิตสินค้าขึ้นมาโดยไม่ปรับสินค้าเข้ากับความต้องการของลูกค้าแต่ละประเทศหรือคำนึงถึงความเป็นสากล หรือก็คือ ผลิตสินค้าอย่างไรก็ส่งออกสินค้าออกไปทั่วโลกโดยไม่ต้องปรับปรุง (หรือปรับปรุงเล็กน้อยให้ถูกเงื่อนไขและกฎหมายแต่ละประเทศ)
Multidomestic Strategy คือการผลิตสินค้าที่ปรับปรุงให้เข้ากับความต้องการแต่ละประเทศ เพื่อขายในประเทศเหล่านั้น
แต่ในส่วนของ Global Strategy คือการปรับปรุงสินค้าให้เข้ากับความต้องการของ “คนทั้งโลก” เพื่อขายให้กับลูกค้าทั่วโลก
ข้อได้เปรียบของ Global Strategy
Global Strategy คือกลยุทธ์ที่มีความได้เปรียบอย่างยิ่งในเรื่องของการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการผลิตที่ผลิตสินค้าในลักษณะเดียวกันทั่วโลก การตลาดแบบเดียวกัน และการบริการหลังการขายที่เหมือนกัน
รวมถึงประหยัดต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันในตลาดแต่ละประเทศ
ด้วยข้อได้เปรียบเหล่านี้ Global Strategy จึงเหมาะกับสินค้าและบริการที่ทั่วโลกใช้เหมือนกันและมีปริมาณความต้องการสินค้าอย่างมาก อย่างเช่น สินค้า FMCG ที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน และบริการที่ลูกค้าใช้บริการได้ทั่วโลกผ่านอินเทอร์เน็ต
ข้อจำกัดของ Global Strategy
ข้อจำกัดของ Global Strategy คือ ความเสียเปรียบจากการที่ไม่สามารถปรับสินค้าให้ตรงความต้องการในแต่ละท้องถิ่นได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่สินค้าดังกล่าวจะตรงความต้องการของลูกค้าทั่วโลก ทำให้ในบางประเทศสินค้าดังกล่าวอาจแพ้ให้กับแบรนด์อื่นได้
เพราะแม้ว่าบริษัทที่ใช้กลยุทธ์แบบ Global Strategy จะปรับสินค้าให้เป็นสากลมากเพียงใด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสินค้าดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับของลูกค้าทั่วโลก
นอกจากนี้ อีกข้อเสียเปรียบที่สำคัญคือสูญเสียความสามารถด้านความคล่องตัวในการแข่งขัน เพราะในเมื่อบริษัทไม่สามารถปรับสินค้า (หรือปรับปรุงได้เล็กน้อย) จึงทำให้การแข่งขันในตลาดแต่ละประเทศในด้านผลิตภัณฑ์ทำได้ยาก ส่งผลให้ทำได้เพียงด้านการตลาดเท่านั้น