GNP คืออะไร?
GNP คือ ชื่อย่อของ Gross National Product หมายถึง ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น เป็นมาตรวัดรายรับและผลผลิตของประเทศแบบหนึ่งที่ใช้แสดงมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดย GNP จะเป็นมูลค่าของผลผลิตที่เป็นของชาตินั้นไม่ว่าจะผลิตขึ้นที่ประเทศใดก็ตาม
ตัวอย่างเช่น นาย A เป็นคนสัญชาติไทยเข้าไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่น รายได้ของนาย A ก็จะนับเป็น GNP ของประเทศไทย (และนับเป็น GDP ของประเทศญี่ปุ่น)
มูลค่าของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP จะคำนวณมาจาก 7 ส่วน ได้แก่
- การบริโภคภาคประชาชน (Consumption)
- การลงทุนของเอกชน (Investment)
- การลงทุนจากรัฐบาล (Government)
- มูลค่าการส่งออก (Export)
- มูลค่าการนำเข้า (Import)
- รายได้ของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ
- รายได้ของคนในประเทศที่ลงทุนในต่างประเทศ
GNP ทั้ง 7 ส่วนจะนำมาใช้คำนวณได้ดังนี้: GNP = Consumption + Investment + Government + (Exports – Imports) – รายได้ของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ + รายได้ของผู้ที่อยู่นอกประเทศ
ซึ่งถ้าหากสังเกตดีๆ จะพบว่า 5 รายการแรกจะคำนวณเหมือนกับ GDP หรือ Gross Domestic Product ทำให้อีกวิธีหนึ่งของการคำนวณหา GNP ก็คือการนำตัวเลข GDP มาลบด้วยรายได้ที่มาจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ และบวกรายได้ของผู้ที่นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ
- GNP = GDP – รายได้ที่มาจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ + รายได้ของผู้ที่อยู่นอกประเทศ
โดยการวัดมูลค่าของ GNP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ จะสามารถวัดได้ 2 วิธี คือ การวัดจากข้อมูลจากรายได้จากการขายสินค้าและบริการ กับ การวัดจากข้อมูลจากรายจ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ
Consumption
Consumption คือ การบริโภคของภาคเอกชน (Private Consumption) โดยตัวเลข Consumption จะเป็นตัวเลขของจากการใช้จ่ายทั่วไปของประชาชน โดย Consumption จะเป็นการใช้จ่ายส่วนบุคคลเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่อาหาร ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค และค่าใช้จ่ายในการซื้ออะไรก็ตามของภาคเอกชนและคนทั่วไป
Investment
Investment คือ การลงทุนของธุรกิจของภาคเอกชนทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในสินค้าทุน และการลงทุนโดยภาคครัวเรือนในสินค้าทุน อย่างเช่นการซื้อบ้านหลังใหม่ ก็จะถูกรวมเอาไว้ในส่วนนี้ด้วย
Government
Government คือ การใช้จ่ายของรัฐบาล ตั้งแต่การซื้อสินค้าและบริการ ไปจนถึงเงินเดือนของราชการและการลงทุนของรัฐ อย่างการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศหรือการออกโครงการหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ Government (G) จะไม่รวมไปถึงรายจ่ายของรัฐบาลในส่วนการโอนเงิน อย่างผลประโยชน์ที่ให้จากการว่างงาน
Export & Import
ในส่วนของ Export และ Import จะเป็นตัวเลขมูลค่าดุลการค้า ที่มาจากการนำรายได้ของการส่งออก (Export) ลบด้วยรายจ่ายจากการนำเข้า (Import)
และการที่ GNP จะสูงได้จากส่วนนี้ ก็คือการที่มูลค่าการส่งออกของประเทศต้องมากกว่าการนำเข้า หรือดุลการค้าเกินดุล (Deficit)
รายได้ของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ
Gross National Product จะนับเฉพาะมูลค่าการลงทุนของคนจากประเทศเพียงเท่านั้น ในการคำนวณ GNP จะเป็นการลบรายได้ที่มาจากการการเข้ามาลงทุนของต่างชาติออกไป (ไม่ได้นำมาบวกเหมือนกับการคำนวณ GDP)
รายได้ของผู้ที่อยู่นอกประเทศ
รายได้ในส่วนนี้คือรายได้ของคนสัญชาตินั้นๆ แต่อยู่นอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการทำงานหรือลงทุนในต่างประเทศก็ตาม
ตัวอย่างเช่น นาย A เป็นบุคคลสัญชาติไทย แต่ได้รับโอกาสจากบริษัทแม่ไปทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะ Expat หรือ Expatriate
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP บอกอะไร?
สิ่งที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP บอกคือมูลค่าของผลผลิตที่เป็นของชาตินั้นๆ ไม่ว่าจะผลิตขึ้นที่ประเทศใดก็ตาม (ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง) ซึ่งจะทำให้เห็นว่าตัวเลขเบื้องต้นของผลผลิตที่เกิดขึ้นจากประเทศนั้นจริงๆ มีมูลค่าเท่าไหร่
เพราะตัวเลข Gross National Product (GNP) จะเป็นตัวเลขที่ตัดมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศออกไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Gross National Product หรือ GNP คือ ตัวเลขที่บอกมูลค่าผลผลิตที่เกิดขึ้นจากในประเทศได้ชัดกว่าตัวเลข GDP แต่ GNP ก็ยังเป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้นเท่านั้นและยังบอกไม่ได้ทุกอย่าง เพราะบางอย่างก็ยังไม่ถูกนำมาคำนวณเป็น GNP อยู่ดี
ตัวอย่างเช่น บริษัท ABC ประกันภัย เป็นบริษัทประกันจากประเทศอังกฤษเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย จะเห็นว่ารายได้ของบริษัท ABC ประกันภัย ไม่ได้ถูกนำไปคำนวณเป็น GNP แต่ในความเป็นจริงการที่ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็ย่อมเกิดการจ้างงานและเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจของไทย