ธรรมาภิบาล คืออะไร?
ธรรมาภิบาล คือ แนวทางการปฏิบัติ กระบวนการ และนโยบายในการบริหารจัดการองค์กร ที่มีเป้าหมายเพื่อการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีความรับผิดชอบ โปร่งใส เป็นไปอย่างถูกต้องและยุติธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรทุกฝ่าย
การที่องค์กรมีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาล (Good Governance) ที่ดีสำคัญต่อธุรกิจที่ต้องการความยั่งยืน (Sustainability) เป็นอย่างมาก เนื่องจากแนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลขององค์กรช่วยกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการตัดสินใจ วิธีการจัดการ หรือแม้กระทั่งการทำบัญชีที่ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมาตรฐานของอุตสาหกรรม
ผลที่ตามมา คือ การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งหมายถึงการที่องค์กรจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความโปร่งใสตามมาในภายหลัง
ทั้งหมดทำให้บุคคลภายนอกที่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมั่นในองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอยู่บนหลักธรรมาภิบาล อย่างเช่น ความไว้วางใจในการร่วมทำธุรกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของแบรนด์ที่อยู่ภายใต้องค์กรนั้น เป็นต้น
กล่าวคือ การดำเนินธุรกิจอยู่บนหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) คือเรื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ซึ่งเมื่อองค์กรดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมก็จะไม่มีปัญหาตามมาขัดขวางการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว อีกทั้งยังได้รับความเชื่อถือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกฝ่าย
ธรรมาภิบาลเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง?
ธรรมาภิบาล (Good Governance) ดูเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ เนื่องจากถูกกล่าวถึงในรูปนามธรรมหรือบริบทที่เข้าใจยาก หรือแม้กระทั่งอาจถูกมองเป็นเรื่องความดีความชั่วในบางมุมมอง แต่ในความเป็นจริงแล้วธรรมาภิบาลเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่ได้ไกลตัว โดยทั่วไปธรรมาภิบาลในบริบทของการดำเนินธุรกิจมักจะเกี่ยวข้องกับประเด็น อย่างเช่น:
ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ (Transparency) การดำเนินงานที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสในการดำเนินงานและกระบวนการตัดสินใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องและสามารถตรวจสอบได้
ความรับผิดชอบ (Responsibility) คือ ธุรกิจควรรับผิดชอบต่อการกระทำและการตัดสินใจ ซึ่งรวมถึงการมีสายงานความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการตัดสินใจได้รับการแจ้งและอิงตามหลักฐาน และรับผิดชอบต่อความผิดพลาดหรือความล้มเหลว
ความซื่อสัตย์ (Integrity) การบริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างเช่น คู่ค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น อีกทั้งยังรวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมต่าง ๆ ในแต่ละอุตสาหกรรม
ความยุติธรรม (Fairness) การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างยุติธรรมและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจอย่างไม่ยุติธรรม
การปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (Compliance) ซึ่งรวมถึงการมีระบบและกระบวนการบังคับให้ปฏิบัติตามที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะดำเนินไปอย่างเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมายและข้อบังคับ
จะเห็นว่าโดยรวมแล้วหลักธรรมาภิบาลของธุรกิจมีความสำคัญต่อการทำให้แน่ใจว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ และหลักจริยธรรมพื้นฐาน เพื่อที่ธุรกิจจะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวโดยไม่มีปัญหาตามมา
กล่าวคือ ถ้าหากเปลี่ยนมุมมองในการดำเนินธุรกิจโดยทำทุกอย่างตรงข้ามสิ่งที่เรียกว่า ธรรมาภิบาล (Good Governance) อย่างเช่น การดำเนินธุรกิจอย่างไม่โปร่งใสในการประมูลงานจากภาครัฐ การเลี่ยงภาษีด้วยการตกแต่งบัญชี จะพบว่าแม้ว่าในระยะสั้นอาจไม่มีปัญหาอีกทั้งยังทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวเมื่อถูกจับได้ก็จะทำให้การดำเนินงานของธุรกิจสะดุดลงและกลายเป็นถดถอยแทนการเติบโต