GreedisGoods » Investment » พันธบัตรรัฐบาล คืออะไร? (Government Bond)

พันธบัตรรัฐบาล คืออะไร? (Government Bond)

by Kris Piroj
พันธบัตรรัฐบาล คือ Government Bond คือ Treasury Bond การลงทุน พันธบัตรรัฐบาล

พันธบัตรรัฐบาล คืออะไร?

พันธบัตรรัฐบาล คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล โดยนักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาล และกระทรวงการคลังจะมีฐานะเป็นผู้กู้หรือลูกหนี้ ซึ่งจะจ่ายดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ (Coupon Rate) ให้กับนักลงทุนจนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรที่นักลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน

การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) เป็นการที่นักลงทุนนำเงินไปให้รัฐบาลยืมผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล (ราคาพันธบัตรก็คือเงินต้น) โดยจำนวนต้นหรือราคาพันธบัตรจะเรียกว่า Par Value หรือ Face Value และผู้ปล่อยกู้ก็จะได้ดอกเบี้ยตอบแทนตามที่กำหนดเอาไว้หน้าพันธบัตรเรียกว่า Coupon Rate

ดังนั้น ความเสี่ยงของพันธบัตรรัฐบาลก็คือความเสี่ยงที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้ (เหมือนกับการปล่อยกู้ทั่วไป) แต่อย่างไรก็ตามพันธบัตรรัฐบาลถือเป็นตราสารหนี้ (Debt Instrument) ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เนื่องจากโอกาสผิดนัดชำระหนี้ (เบี้ยวหนี้) ของรัฐบาลมีน้อยมาก

ในกรณีเลวร้ายที่รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายหนี้รัฐบาลก็จะหาทางเก็บภาษีมาจ่ายหรือกู้เงินอีกก้อนมาจ่ายได้อยู่ดี ทำให้พันธบัตรรัฐบาลจัดเป็นสินทรัพย์ปลอดความเสี่ยง (Risk Free)

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่นักลงทุนจะได้รับจากการเข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล คือ ดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลตามที่ระบุเอาไว้บนพันธบัตร (เรียกว่า Coupon Rate) โดยพันธบัตรแต่ละรุ่นอาจจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละปีจำนวนไม่เท่ากัน โดยปกติจะจ่ายปีละ 1 ถึง 2 ครั้ง

นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถทำกำไรจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนพันธบัตรในตลาดรอง ถ้าหากพันธบัตรเป็นที่ต้องการนักลงทุนจะสามารถขายพันธบัตรได้ในราคาที่แพงกว่าราคาพันธบัตรได้ เช่น พันธบัตรมูลค่า 1 แสนบาท (ให้รัฐบาลกู้ 1 แสนบาท) อาจขายได้ในราคา 110,000 บาทก็ได้

แต่ถ้าหากนักลงทุนซื้อต่อพันธบัตรมาในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าของพันธบัตร (เนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการเพราะมีรุ่นใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยมากกว่า) เช่น พันธบัตรมูลค่า 1 แสนบาท (ให้รัฐบาลกู้ 1 แสนบาท) ซื้อมาในราคา 90,000 บาท แต่เมื่อนำไปไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดคุณก็จะยังได้ 1 แสนบาทตามที่ระบุไว้ในพันธบัตร

การซื้อขายและตลาดพันธบัตรรัฐบาล

การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลหรือ Government Bond จะแบ่งออกเป็น 2 ตลาดคล้ายกับตลาดหุ้น โดยจะแบ่งเป็น ตลาดแรก (Primary Market) และ ตลาดรอง (Secondary Market)

ตลาดแรกของพันธบัตร (Primary Market) คือ การที่นักลงทุนเข้าไปซื้อพันธบัตรออกใหม่โดยตรงจากรัฐบาล ซึ่งตามปกตินักลงทุนที่มีโอกาสเข้าถึงพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกมักจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบัน (อย่างเช่นกองทุนต่างๆ) เนื่องจากการออกพันธบัตรรัฐบาลแต่ละครั้งคือการที่รัฐบาลกู้เงินหลายพันล้านบาท ดังนั้นวิธีที่ง่ายกว่าก็คือการขายให้นักลงทุนรายใหญ่ก่อน

อย่างไรก็ตาม ก็มีอยู่บ้างที่กระทรวงการคลังจะออกขายพันธบัตรรัฐบาลให้กับรายย่อยโดยตรง (ตลาดแรก) อย่างเช่น พันธบัตรเราไม่ทิ้งกัน พันธบัตรเราก้าวไปด้วยกันและพันธบัตรสบมในช่วงโควิดปีที่ผ่านมา

ตลาดรองของพันธบัตร (Secondary Market) คือ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนมือตั้งแต่มือที่ 2 เป็นต้นไป โดยราคาพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองก็จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามปริมาณความต้องการพันธบัตรรุ่นดังกล่าว (เทียบได้กับการซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นในตลาดหุ้น)

ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1 แสนบาท (ให้รัฐบาลกู้ 1 แสนบาท) แต่ถ้าหากพันธบัตรรุ่นดังกล่าวเป็นที่ต้องการก็อาจทำให้สามารถขายได้ในราคา 200,000 บาท

นอกจากนี้ การที่นักลงทุนซื้อต่อพันธบัตรมาในราคาที่ต่ำกว่า Face Value (เนื่องจากพันธบัตรรุ่นดังกล่าวไม่เป็นที่ต้องการ) เช่น ซื้อพันธบัตรมูลค่า 1 แสนบาทมาในราคา 8 หมื่นบาท เมื่อนำไปไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดคุณก็จะยังได้ 1 แสนบาทตามที่ระบุไว้ในพันธบัตร (ทั้งที่ซื้อต่อมาในราคา 8 หมื่น

Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาล

แม้ว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) จะอยู่ในรูปของดอกเบี้ยตามที่ระบุบนพันธบัตร แต่ด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองที่ได้อธิบายก่อนหน้านี้ส่งผลให้ต้นทุนแต่ละคนไม่เท่ากัน ส่งผลให้ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับจริง ๆ ไม่เท่ากัน นักลงทุนจึงต้องคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบหรือที่รู้จักกันในชื่อ Bond Yield

Bond Yield = (Coupon Payment / ราคาพันธบัตร) x 100

ตามปกติ Bond Yield จะมีทิศทางที่ตรงข้ามกับราคาของพันธบัตร ถ้าหากยิ่งซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาในราคาแพงผลตอบแทนก็จะยิ่งลดลง ในทางตรงกันข้ามถ้าหากยิ่งซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาในราคาที่ถูกผลตอบแทนหรือ Yield ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

เพราะไม่ว่านักลงทุนจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาที่ราคาเท่าไหร่ดอกเบี้ยที่พันธบัตรให้ในแต่ละปีก็จะยังเท่าเดิมตาม Coupon Rate

ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1 ล้านบาท ให้ผลตอบแทน 1 หมื่นบาทต่อปี ในตลาดรองซื้อขายกันอยู่ที่ 1,100,000 บาท

  • ถ้าหากซื้อพันธบัตรมาในราคา 1 ล้านบาท (ราคาตลาดแรก) Bond Yield = (10,000 / 1,000,000) x 100 = 1%
  • แต่ถ้าหากซื้อมาในราคา 1 ล้าน 1 แสนบาท Bond Yield = (10,000 / 1,100,000) x 100 = 0.9%
  • หรือถ้าซื้อมาในราคา 9 แสนบาท Bond Yield = (10,000 / 900,000) x 100 = 1.1%

ข้อมูลอ้างอิงจาก: Vanguard, Blackrock, Investor.gov

บทความที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด