High Context กับ Low Context เป็นแนวคิดของ Edward T. Hall ที่แบ่งบริบททางวัฒนธรรมออกเป็น 2 บริบทตามความชัดเจนในการแสดงออกและวิธีการสื่อสารของคนในวัฒนธรรมนั้น เพื่อทำความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมและวิธีตอบสนองต่อวัฒนธรรมแต่ละประเภท
โดย High Context กับ Low Context ตามแนวคิดของ Edward T. Hall มีความหมายดังนี้:
High Context คือ สังคมที่เน้นความสัมพันธ์ระยะยาวและไม่แสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดเจน ทำให้ในการเจรจาจะค่อนข้างอ้อมค้อม เพื่อรักษาสัมพันธ์ระยะยาว
Low Context คือ สังคมที่ไม่ได้เน้นความสัมพันธ์ระยะยาว เน้นพูดตรงๆ เน้นเข้าเรื่องในการเจรจา เพราะให้ความสำคัญกับงานมากกว่าความสัมพันธ์
โดยแนวคิดเรื่อง High Context และ Low Context เป็นหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญของการเจรจาระหว่างประเทศ เนื่องจากความแตกต่างของลักษณะทางวัฒนธรรมแบบ High Context กับ Low Context จะเห็นได้ชัดมากจากรูปแบบการเจรจา
High Context
High Context จะเป็นวัฒนธรรมในแบบที่ค่อนข้างอ้อมค้อม ไม่แสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดเจน เน้นสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวและความไว้เนื้อเชื่อใจก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา ทำให้การเจรจาต่อรองค่อนข้างที่จะเป็นไปอย่างช้า ๆ
ในการเจรจากับคู่เจรจาแบบ High Context จึงควรที่จะสร้างความสัมพันธ์ให้อีกฝ่ายไว้ใจก่อนที่จะเข้าเรื่องงาน
นอกจากนี้ คำพูดจะอ้อมค้อม รักษาน้ำใจ ทำให้มีอะไรก็จะไม่พูดออกมาตรง ๆ เพื่อเป็นการถนอมน้ำใจอีกฝ่าย
บางครั้งการตอบตกลงหรือโอเค ไม่ได้แปลว่าอีกฝ่ายตกลงแล้วจริง ๆ อาจเป็นเพียงแค่การตอบสนองว่า “รู้แล้ว” เพียงแค่นั้น
ประเทศที่มีลักษณะวัฒนธรรมแบบ High Context คือ ลาตินอเมริกา เม็กซิโก ไทย เกาหลี ญี่ปุน จีน และ ประเทศเอเชียอื่นๆ
Low Context
Low Context จะเป็นวัฒนธรรมแบบที่ไม่อ้อมค้อม เน้นการสื่อสารที่ชัดเจน (รวมถึงการใช้ลายลักษณ์อักษร) ตรงไปตรงมา และมีความมุ่งงานที่สูง เน้นประสิทธิภาพมากกว่าความสัมพันธ์ ทำให้ในการเจรจาที่เกิดขึ้นมักจะทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรมากกว่าการสัญญาโดยการพูดปากเปล่า
ในการเจรจาของวัฒนธรรมแบบ Low Context จะเน้นพูดเข้าเรื่องที่เจรจาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่นอกเรื่อง ไม่ต้องสร้างความสัมพันธ์ก่อน และคำตอบที่ได้จากอีกฝ่ายคือคำตอบจริงๆ ไม่ต้องเอาไปตีความอีกรอบแบบคู่เจรจาแบบ High Context
ประเทศที่มีลักษณะวัฒนธรรมแบบ Low Context คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และ ประเทศอื่นๆในแถบสแกนดิเนเวีย