GreedisGoods » Economics » หนี้ครัวเรือน คืออะไร? Household Debt มาจากไหน บอกอะไรบ้าง

หนี้ครัวเรือน คืออะไร? Household Debt มาจากไหน บอกอะไรบ้าง

by Kris Piroj
หนี้ครัวเรือน คือ หนี้ภาคประชาชน Household Debt คือ เศรษฐกิจ ไทย

หนี้ครัวเรือน คืออะไร?

หนี้ครัวเรือน คือ หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมโดยบุคคลธรรมดาที่อยู่ภายในแต่ละประเทศ และไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะนำเงินกู้ก้อนนั้นไปจับจ่ายใช้สอยหรือใช้ประกอบธุรกิจก็นับว่าเป็นหนี้ครัวเรือน โดยผู้ทีให้กู้ของหนี้ครัวเรือน (Household Debt) คือสถาบันการเงิน

หนี้ครัวเรือน (Household Debt) เป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นและนับรวมมาจากการก่อหนี้เพื่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์ หนี้จากการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หนี้เพื่อการศึกษา หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น และหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ

อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนเป็นตัวเลขหนี้ที่ครอบคลุมเพียงแค่ตัวเลขเงินกู้ที่รวบรวมได้จากสถาบันการเงินที่ธนาคารกลาง (Central Bank) หรือในที่นี้คือธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ควบคุมและสามารถเก็บข้อมูลได้เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่นับรวมหนี้นอกระบบ (ทั้งนี้ วิธีการจัดทำและคิดหนี้ครัวเรือนอาจแตกต่างกันเล็กน้อย)

โดยที่มาของ ตัวเลขหนี้ครัวเรือน จะประกอบตัวเลขเงินกู้จาก 2 กลุ่มหลัก คือ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร อย่างเช่น บริษัทบัตรเครดิต บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์ และโรงรับจำนำ เป็นต้น

กล่าวคือ หนี้ครัวเรือน หรือ Household Debt คือหนี้ที่มาจากการที่ประชาชนกู้เงินเพื่อใช้จ่ายทั้งสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น กู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด กู้ซื้อรถ ตลอดจนหนี้บัตรเครดิต แต่ไม่รวมข้อมูลภาระหนี้สินนอกระบบของประชาชนที่ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้

หนี้ครัวเรือน (Household Debt) บอกอะไร?

การก่อหนี้ (Debt) ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เช่นเดียวกันกับหนี้ครัวเรือน (Household Debt) หลายสิ่งหลายอย่างในระบบเศรษฐกิจต่างขับเคลื่อนด้วยหนี้สินและหนี้สินก็สะท้อนให้เห็นว่ารายได้ของคนในชาติสูงขึ้น (และเมื่อรายได้มากขึ้นก็สามารถกู้ได้ไปใช้จ่ายหมุนเวียนในเศรษฐกิจได้มากขึ้นเช่นกัน)

อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือน (Household Debt) ที่ดีก็ควรจะสอดคล้องกันกับระดับรายได้ของประชากร เนื่องจากรายได้คือความสามารถในการชำระหนี้ หากถ้าหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงกว่าระดับรายได้ของประชากรต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้ ซึ่งในท้ายที่สุดหนี้เหล่านั้นจะกลายเป็นหนี้เสีย (Non Profit Loan : NPL) ที่เกิดจากการผิดนัดชำระหนี้

และเมื่อหนี้ครัวเรือนกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ในจำนวนที่มากเกินไป ในท้ายที่สุดก็จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) เหมือนกับหลายวิกฤตการเงิน ไม่ว่าจะเป็น Subprime Crisis ในสหรัฐฯ หรือวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยที่ผ่านมาในอดีต

หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากอะไรได้บ้าง?

เหตุผลที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เกิดขึ้นได้ในหลายสาเหตุที่แตกต่างกัน ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งด้านที่ดูเหมือนด้านดีและด้านที่ดูเหมือนเรื่องร้าย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะพิจารณาจากปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการก่อหนี้ครัวเรือน (Household Debt) โดยปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการก่อหนี้ครัวเรือน ได้แก่:

สภาพเศรษฐกิจที่ดีหรือดีมาก จนส่งผลให้ประชาชนทั่วไปกล้าใช้เงิน กล้าลงทุน รวมถึงกล้ากู้เงินก้อนใหญ่เพื่อผ่อนรถ ผ่อนบ้าน

ประชาชนมีความรู้ด้านการบริการเงินต่ำ กล่าวคือคนทั่วไปในประเทศม่มีความรู้ในการบริหารเงินที่มี จนนำไปสู่การก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นในระดับประเทศ

การกู้เงินไปใช้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร ในระยะยาวของทุกวัฏจักรเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นมากและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการลงทุนจะทำให้ประชาชนมักจะกู้เงินเพื่อใช้ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร

ธนาคารและสถาบันการเงินแข่งกันปล่อยเงินกู้ บางครั้งสาเหตุก็ไม่ได้มาจากลูกหนี้ แต่เกิดจากธนาคารและสถาบันการเงินที่แข่งกันปล่อยกู้ (จนทำให้กู้ผ่านง่ายมาก ๆ) ซึ่งเหตุการณ์การแข่งกับปล่อยกู้จนหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่คือวิกฤติ Subprime ที่ใช้เงินกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร

นโยบายของรัฐที่เอื้อให้ประชาชนก่อหนี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายตั้งแต่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หรือนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจจะได้ผลหรือไม่ก็ตาม

ความสามารถในการเข้าถึงเงินกู้ในระบบมากขึ้น การเปลี่ยนจากกู้นอกระบบมากู้ในระบบได้ จึงทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือน (Household Debt) กลายเป็นปัญหา คือ การก่อหนี้ของประชาชนที่ไม่สร้างรายได้ (Non-productive Loan) ซึ่งเป็นหนี้ที่ใช้เพื่อตอบสนองความต้องการปัจจุบันที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งไม่ทำให้เกิดประโยชน์ทางการเงินในอนาคต (ซึ่งมักจะใช้เวลาผ่อนสั้นและมีดอกเบี้ยสูง)

หนี้ครัวเรือนไทย

หนี้ครัวเรือน (Household Debt) เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างน่าสนใจตัวหนึ่ง เนื่องจากเป็นตัวเลขที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี เพราะหนี้คือส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ ดังนั้นใครที่สนใจในเศรษฐกิจ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนคือหนึ่งในตัวเลขที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับหนี้ครัวเรือนไทยมีการเก็บข้อมูลทางสถิติโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) สามารถติดตามรายงานหนี้ครัวเรือนไทยรายไตรมาสได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยในหน้า เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์

หนี้ครัวเรือน คือ Household Debt รายงาน  สัดส่วน หนี้ครัวเรือน ไทย สถิติ
ตัวอย่าง รายงานหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยรายไตรมาสของธนาคารแห่งประเทศไทย

จะเห็นว่าหนี้ครัวเรือนของไทยตามสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่สัดส่วนประมาณ 80% – 90% ของ GDP สามารถดู Data Scrollytelling เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด