GreedisGoods » Economics » IMF คืออะไร? กองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีหน้าที่อะไร

IMF คืออะไร? กองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีหน้าที่อะไร

by Kris Piroj
IMF คือ International Monetary Fund ไอเอ็มเอฟ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

IMF คือ International Monetary Fund หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีบทบาทหลักในการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิก เพื่อให้ระบบการเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ

International Monetary Fund หรือ IMF ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 ในการประชุม United Nations Monetary and Financial Conference ปัจจุบัน IMF มีสมาชิก 188 ประเทศ

ในปัจจุบัน IMF มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประเทศสมาชิกที่เข้าเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ประเทศสมาชิกจะได้รับจัดสรรจำนวนโควตาสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ตามขนาดของเศรษฐกิจและความสำคัญของประเทศสมาชิกเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก โดยปกติกองทุนการเงินฯ จะทบทวนโควตาทุก 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มทุนดำเนินการของกองทุนการเงินฯ ให้พอเพียงกับความจำเป็น

นอกจากนี้โควตาของ สิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ยังมีความสำคัญในการกำหนดสิทธิและวงเงินกู้ของประเทศสมาชิก โดยประเทศสมาชิกจะได้รับคะแนนเสียงพื้นฐานเท่ากันจำนวน 250 คะแนน และเพิ่ม 1 คะแนนเสียงต่อโควตา 100,000 SDR

และในด้านการกู้ยืมเงิน ประเทศสมาชิกสามารถกู้เงินจาก IMF ได้ไม่เกิน 100% ของจำนวนโควตาต่อปี และกู้รวมกันทั้งหมดได้ไม่เกิน 300% ของจำนวนโควตา

IMF ทำอะไร

บทบาทหลักของกองทุน IMF คือ ทำหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศรวมถึงและความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิก เพื่อทำให้ระบบการเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ ซึ่งครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้

เสริมสร้างเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ  รวมถึงป้องกันการแข่งกันลดค่าเงินของประเทศสมาชิก

สนับสนุนระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้ระบบการเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ

ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน ด้วยการให้กู้เงินในระยะสั้นแก่ประเทศสมาชิกที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน

สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ

การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ โดยกองทุนการเงินฯ ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิกเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิกในการกำหนดและดำเนินนโยบาย 4 ด้านหลัก คือ

  1. นโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงิน
  2. นโยบายการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะ
  3. สถิติข้อมูล
  4. กฎหมายเศรษฐกิจการเงิน

การสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ โดย IMF จะติดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกโดยเจ้าหน้าที่ของกองทุน IMF จะมีการไปเยือนประเทศสมาชิกเพื่อประเมินภาวะและเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ของประเทศนั้น ๆ ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง