GreedisGoods » International Business » Impatriate หรือ Impat คืออะไร? ต่างจาก Expat อย่างไร

Impatriate หรือ Impat คืออะไร? ต่างจาก Expat อย่างไร

by Kris Piroj
Impat คือ Impatriate การจัดการทรัพยากรมนุษย์ ระหว่างประเทศ

Impatriate (Impat) คืออะไร?

Impatriate หรือ Impat คือ นโยบายกำลังคนในการบริหารบรรษัทข้ามชาติ โดยจะเป็นการส่งผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทลูกในสาขาต่างประเทศ (Host Country) เข้ามาบริหารบริษัทแม่ในประเทศแม่ (Home Country) เพื่อใช้ประโยชน์ในการถ่ายทอดวิธีดำเนินงานในเชิงลึก

โดยการใช้ Impatriate หรือ Impat อาจเป็นได้ทั้งการส่งผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทลูกในสาขาต่างประเทศเข้ามาบริหารบริษัทแม่ในระยะยาว และการส่งส่งผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทลูกในสาขาต่างประเทศเข้ามาบริหารบริษัทแม่เพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรจากบริษัทแม่ ก่อนจะส่งกลับไปบริหารบริษัทลูกในนโยบายแบบ Polycentric

ประโยชน์หลักของการใช้ Impat หรือ Impatriate คือความง่ายในการถ่ายทอดวิธีดำเนินงานในเชิงลึกให้กับผู้บริหารระดับสูง เนื่องจากผู้บริหารคนดังกล่าวจะได้เข้ามาเรียนรู้วิธีดำเนินงานจริงจากบริษัทแม่ รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรจากบริษัทแม่ในสภาพแวดล้อมจริง

ซึ่งเป็นวิธีที่เรียนรู้ได้ง่ายกว่า ลึกกว่าและเร็วกว่า กรณีที่ใช้การส่งคนจากบริษัทแม่ไปอบรมผู้บริหารในบริษัทลูกในระยะสั้น ๆ (พูดง่าย ๆ คือเป็นวิธีที่เห็นภาพกว่าการอบรม) เหมือนกับการที่นักศึกษาไปฝึกงานเพื่อทำความเข้าใจกับสายงานที่นักศึกษากำลังเรียนอยู่ ที่จะทำให้เห็นว่าขั้นตอนการดำเนินงานจริงๆ เป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ยังได้ประโยชน์จากการใช้ผู้บริหารที่เก่งที่สุดในการบริหารงานโดยไม่สนใจว่าผู้บริหารจะมาจากประเทศใดแบบนโยบาย Geocentric

ถ้าหากรู้จัก Expat อยู่แล้วจะเห็นว่า Impat หรือ Impatriate ก็คือนโยบายที่ตรงข้ามกับ Expat หรือ Expatriate ที่เป็นการส่งคนจากประเทศแม่ไปบริหารบริษัทสาขาในต่างประเทศนั่นเอง

ข้อจำกัดของ Impatriate

อย่างไรก็ตาม การใช้ผู้บริหารด้วยนโยบาย Impatriate จะมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่คล้ายกับกรณี Expatriate โดยหลัก ๆ จะมีอยู่ 2 ปัญหา คือ ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายที่สูง และด้านความแตกต่างของวัฒนธรรม

ค่าใช้จ่ายสูง

เนื่องจาก การที่บริษัทต้องส่งผู้บริหารมายังบริษัทแม่ บริษัทจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นด้วยไม่ได้จ่ายเพียงแค่เงินเดือนของผู้บริหารคนดังกล่าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายในการขนย้าย ค่าใช้จ่ายของครอบครัว ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พัก และค่าชดเชยอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกับการเป็น Expat

อุปสรรคด้านภาษาและวัฒนธรรม

อุปสรรคด้านภาษาและวัฒนธรรมเป็นปัญหาเดียวกับ Expatriate เช่นกัน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีที่ผู้บริหารจากนโยบาย Impatriate เป็นผู้บริหารที่มาจากวัฒนธรรมที่ต่างกันและใช้ภาษาที่ต่างกัน

ซึ่งอาจเป็นผลให้เกิดปัญหา Culture Shock ที่ทำให้ผู้บริหารคนดังกล่าวต้องกลับประเทศก่อนกำหนด ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายข้างต้นสูญเปล่า หรืออาจทำงานได้ไม่เต็มที่ในระยะแรกจนกว่าจะปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ได้

นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้บริหารคนดังกล่าวเป็น Impatriate ชั่วคราวที่เข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อกับไปบริหารบริษัทลูกในอนาคต การกลับไปยังประเทศเดิมหลังจากปรับตัวใหม่ได้ก็จะทำให้เกิดปัญหา Reverse Culture Shock ได้เช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง