GreedisGoods » Business » Inbound Marketing คืออะไร? เข้าใจการตลาดที่ลูกค้าเป็นฝ่ายเข้าหา

Inbound Marketing คืออะไร? เข้าใจการตลาดที่ลูกค้าเป็นฝ่ายเข้าหา

by Kris Piroj
Inbound Marketing คือ การตลาดแบบดึงดูด Pull Marketing

Inbound Marketing คืออะไร?

Inbound Marketing คือ กลยุทธ์ทางการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการดึงดูดความสนใจของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้เข้ามารู้จักแบรนด์ด้วยตนเอง ผ่านการสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าซึ่งสามารถแก้ไขหรือให้คำตอบได้อย่างเหมาะสมเกี่ยวกับปัญหาของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ด้วยการมอบเนื้อหาที่มีคุณค่า (Value Content) ที่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่กำลังเป็น Pain Point ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทำให้ Inbound Marketing เป็นวิธีการทางการตลาดที่ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ด้วยมุมมองเชิงบวกต่อแบรนด์ ตรงข้ามกับ Outbond Marketing แบบดั้งเดิมที่เป็นการนำเสนอเนื้อหาโฆษณาที่ลูกค้าเป้าหมายไม่ได้ต้องการและขัดจังหวะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

เมื่อลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมีมุมมองเชิงบวกต่อแบรนด์จากคุณค่าที่ได้รับจากกลยุทธ์ Inbound Marketing จึงง่ายที่แบรนด์จะกลายเป็นแบรนด์อันดับ 1 หรือตัวเลือกลำดับแรก ๆ ในใจเมื่อลูกค้ามองหาสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกับแบรนด์ ในขณะที่กลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วจะยิ่งมีความเชื่อถือต่อแบรนด์มากขึ้นจากความเชี่ยวชาญที่แบรนด์นำเสนอผ่านเนื้อหาที่มีคุณค่าเหล่านั้น

โดย HubSpot ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นแนวคิด Inbound Marketing (โดย Brian Halligan และ Dharmesh Shah ผู้ร่วมก่อตั้ง) ได้แบ่ง Inbound Marketing ออกเป็น 3 ขั้น ดังนี้

  1. Attract การดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้กลายเป็นผู้ชม ด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณค่าที่ช่วยสามารถแก้ปัญหาให้กลุ่มเป้าหมายได้
  2. Engage กระบวนการในการเปลี่ยนผู้ชมให้เป็นลูกค้าในอนาคต (Lead) และทำให้ Lead กลายเป็นลูกค้าจริง ๆ ของแบรนด์
  3. Delight การทำให้ลูกค้าที่ซื้อพึงพอใจและบอกต่อ

ทั้งนี้ กระบวนการทั้ง 3 ขั้นตอนจะเป็นวงจรวนซ้ำ เมื่อวงจรแต่ละรอบสิ้นสุดลงที่ขั้น Delight ที่ลูกค้าพึงพอใจและบอกต่อ แบรนก์ก็จะต้อง Attract ลูกค้าให้กลับมาเป็นลูกค้าอีกครั้งวนซ้ำไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด

กล่าวคือ Inbound Marketing เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายเข้ามารู้จักแบรนด์ด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่สามารถแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ (เรียกว่า ส่งมอบเนื้อหาที่มีคุณค่า) เพื่อเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ที่มีมุมมองเชิงบวกต่อแบรนด์ให้เป็นลูกค้าของแบรนด์ ตลอดจนเป็นผู้ที่พึงพอใจแบรนด์และช่วยบอกต่อในท้ายที่สุด

Inbound Marketing ที่แสดงกระบวนการ Attract, Engage, และ Delight เป็นวงจรวนซ้ำ

Attract (การดึงดูด)

Attract คือ จุดเริ่มต้นของ Inbound Marketing โดยเริ่มจากการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่เราพูดถึงอยู่ตลอด ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าปัจจุบันหรืออาจเป็นลูกค้าในอนาคตให้กลายมาเป็นผู้ชม (Visitor) ด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณค่า (Value Content) ที่จะสามารถแก้หรือตอบปัญหากวนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งจะทำให้แบรนด์กลายเป็นที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้ของพวกเขา

โดยเนื้อหา (Content) ที่จะใช้ในการดึงดูด (Attract) กลุ่มเป้าหมายอาจเป็นได้ทั้ง เนื้อหาบนเว็บไซต์ที่อยู่บน Blog ของแบรนด์และดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่ค้นหาข้อมูลผ่าน Google ด้วยการทำ SEO (Search Engine Optimization) ที่ทำให้หน้าเว็บเข้าไปอยู่ในผลการค้นหา หรือการทำ Content รูปแบบใดก็ตามบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการเผยแพร่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของแบรนด์

Engage (การมีส่วนร่วม)

Engage คือ กระบวนการการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายของกลยุทธ์ Inbound Marketing ตั้งแต่กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมกับเนื้อหาที่แบรนด์ได้นำเสนอออกไป (เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขา) และเนื้อหาดังกล่าวได้แก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายจนกลุ่มเป้าหมายมีทัศนคติเชิงบวกกับแบรนด์ และขั้น Engage จะสิ้นสุดที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเปลี่ยนเป็นลูกค้าของแบรนด์ได้สำเร็จ

โดยในขั้น Engage จะใช้ประโยชน์จากการที่แบรนด์ได้เข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าหลังจากแบรนด์ได้แก้ปัญหาให้กับพวกเขาด้วยเนื้อหาที่ได้นำเสนอในขั้น Attract มาถึงจุดนี้เราจะสามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายได้เป็น 3 กลุ่ม (ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นกลุ่มในลำดับต่อไปได้ในอนาคต)

  1. กลุ่มที่ได้คำตอบของปัญหาแต่ไม่ซื้อ (แต่อาจมีทัศนคติเชิงบวกต่อแบรนด์ไม่มากก็น้อย)
  2. กลุ่มว่าที่ลูกค้า สนใจจะซื้อแต่ยังไม่ซื้อตอนนี้ด้วยเหตุผลบางประการ (Lead)
  3. กลุ่มที่เปลี่ยนไปเป็นผู้ซื้อ (หรือแสวงหาประโยชน์อื่นที่ช่วยเปลี่ยนเป็นผู้ซื้อ) ทันทีหลังจากได้คำตอบ (Conversion)

ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของสัดส่วนของแต่ละกลุ่ม ระยะเวลาที่เปลี่ยนจากกลุ่มหนึ่งไปเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจ สินค้า บริการ ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจแตกต่างกัน

เมื่อ Inbound Marketing เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ต้องการเปลี่ยนผู้ชมไปเป็นผู้ซื้อ แบรนด์ที่ทำ Inbound Marketing จึงมุ่งไปที่การหา Lead และ/หรือ Conversion จากเนื้อหาที่มีคุณค่า (Value Content) ที่ส่งมอบให้กลุ่มเป้าหมาย จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ทุกเว็บไซต์ของแบรนด์ที่นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของแบรนด์มักจะมีองค์ประกอบเหล่านี้ให้เห็นบางส่วนหรือทั้งหมด

  • Live Chat ที่มีพนักงานคอยตอบปัญหาหรือคำถามของลูกค้าอยู่ที่ส่วนมุมของเว็บไซต์ เพื่อช่วยในการปิดการขายด้วยการคอยให้คำตอบที่อยู่ในใจลูกค้าได้ทันทีที่สงสัย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line Official Account, หรือระบบ Chat Bot ที่ใช้ตอบคำถามทั่วไปในเบื้องต้น
  • ลิงค์ไปยังหน้าราคาสินค้าหรือบริการของแบรนด์ ที่ช่วยให้ลูกค้าเปรียบเทียบคุณสมบัติได้เองในเบื้องต้น เนื่องจากลูกค้าบางกลุ่มก็ไม่ได้ชอบที่จะคุยหากไม่จำเป็น
  • ช่องทางในการติดต่อ (และติดตาม) ไม่ว่าจะเป็น อีเมล เบอร์โทรศัพท์ และช่องทางโซเชียลมีเดียของแบรนด์ ที่เปิดให้ลูกค้าสอบถามข้อสงสัย ซึ่งมีจุดประสงค์ในลักษณะเดียวกับ Live Chat พบได้ในส่วน Header, Footer, และในหน้า About Us หรือ Contact Us
  • เกี่ยวกับเรา (About Us) ในการอธิบายว่าแบรนด์เป็นใครในการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ
  • Contact Form เพื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูล เพื่อติดต่อเข้ามาสอบถาม ขอราคา และสอบถาม
  • ปุ่ม Call to Action (CTA) ทดลองใช้สินค้าหรือบริการฟรี (หรือได้รับผลประโยชน์บางอย่าง) แลกกับการที่ลูกค้าให้ข้อมูลติดต่อ เพื่อที่แบรนด์จะนำไปใช้ในการสื่อสารและมอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับ Lead ในระยะยาว (เรียกว่า Lead Nurturing) เพื่อการเปลี่ยน Lead ไปเป็นลูกค้าจริง
  • ส่วนท้ายของบทความที่นำไปสู่สินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องของแบรนด์ เช่น บทความเกี่ยวกับ Inbound Marketing ที่แนะนำคอร์สเกี่ยวกับ Inbound Marketing (กรณีนี้สามารถเห็นได้บนโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน)

อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่ง Lead และ Conversion ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงวิธีการเหล่านี้ (เพราะใช้วิธีในลักษณะ Outbound Marketing ก็ได้) แต่ด้วยบทความนี้พูดถึง Inbound Marketing จึงกล่าวถึงวิธีการได้มาซึ่ง Lead และ Conversion จากกลยุทธ์ Inbound Marketing เท่านั้น

กล่าวคือ ในขั้น Engage ของกลยุทธ์ Inbound Marketing ที่แบรนด์ได้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาเป็นผู้ชม (Visitor) เรียบร้อยแล้ว แบรนด์จะเปลี่ยนผู้ชมที่กำลังพบปัญหาที่แบรนด์ได้แก้ไขปัญหาให้พวกเขาเรียบร้อยแล้วเป็นกลุ่มที่จะสามารถกลายเป็นลูกค้าในอนาคตของแบรนด์ (Leads) ด้วยการเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าผ่านการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ในมุมมองเชิงบวก เพื่อที่แบรนด์จะเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปเป็นลูกค้า (Conversion) และเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายที่สนใจแต่ยังไม่ซื้อทันที (Lead) ไปเป็นลูกค้าจริง (Customers) ในภายหลังผ่านการทำ Lead Nurturing รอวันที่พร้อมซื้อ

Delight (การสร้างความพึงพอใจ)

Delight คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าของแบรนด์ได้แล้ว เป็นกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจของลูกค้าหลังจากได้เป็นลูกค้าในลักษณะของขั้น Post-Purchase ของ Customer Journey หรือขั้น Advocate ของ 5A ที่เมื่อลูกค้าเกิดความพึงพอใจต่อแบรนด์ในระดับที่มากพอลูกค้าจะเริ่มบอกต่อคนใกล้ตัวเกี่ยวกับด้านดีของแบรนด์ หรือแนะนำแบรนด์ให้กับคนรู้จักที่กำลังมองหาแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ

โดยการได้มาซึ่งความพึงพอใจของลูกค้าสามารถเกิดขึ้นได้จากการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหา การสร้างกลุ่มพูดคุยของผู้ใช้งาน ตลอดจนการทำ Email Marketing ด้วยการให้ข้อมูลที่จำเป็นกับลูกค้าและการเสนอโปรโมชั่น

การบอกต่อในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากในทางการตลาด เนื่องจากเป็นเรื่องปกติที่ลูกค้าจะเชื่อคนใกล้ตัวมากกว่าเมื่อเทียบกับการสื่อสารจากแบรนด์ นอกจากนี้ Delight อาจไม่จำกัดอยู่เพียงแค่คนใกล้ตัวลูกค้าแต่รวมไปถึงเสียงรีวิวของผู้บริโภคเอง ที่พบได้ในรูปแบบของการถามความเห็นของคนในอินเตอร์เน็ต การดูรีวิวจากผู้ใช้จริง การดูเสียงตอบรับของผู้ใช้ที่ผู้ถึงแบรนด์แบบกลาย ๆ แทนที่จะดูรีวิวของผู้ที่ไม่ได้ใช้จริง ตลอดจนการเปรียบเทียบของผู้ใช้งานจริงตามอินเตอร์เน็ต หรืออีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือการตบตีกันระหว่างผู้ใช้ iOS และ Android บางกลุ่ม

การตลาด Inbound Marketing Delighting ตัวอย่าง
ตัวอย่างการสอบถามจากผู้ใช้งานจริงที่พบได้บ่อยบน Reddit และ Pantip

กล่าวคือ Delight เป็นการเปลี่ยนลูกค้า (Customers) ของแบรนด์ไปเป็นผู้โปรโมตสินค้าให้กับแบรนด์ด้วยการบอกต่อ (Promoters) นั่นเอง

ตัวอย่าง Inbound Marketing

ตัวอย่างที่ชัดเจนและประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ การใช้กลยุทธ์ Inbound Marketing ของบริษัท HubSpot ที่เป็นผู้คิดค้น Inbound Marketing ที่เขียนบทความเกี่ยวกับ Inbound Marketing และเผยแพร่ลงเว็บไซต์ HubSpot เพื่อตอบปัญหาให้นักการตลาดและแบรนด์ที่ต้องการทราบว่า Inbound Marketing คืออะไรและทำอย่างไร

เมื่อบทความดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายของ HubSpot ได้ ก็มีโอกาสที่กลุ่มเป้าหมายบางส่วนเกิดการ Conversion ไปเป็นผู้ซื้อ Software ด้านการตลาดของ HubSpot เมื่อแบรนด์ดังกล่าวต้องการทำ Inbound Marketing ในทันที ในขณะที่กลุ่มที่ให้สนใจแต่ยังไม่ซื้อในทันที (Lead) เนื่องจากต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Inbound Marketing ให้ละเอียดกว่านี้ก็จะลงทะเบียนคอร์สฟรีของ HubSpot เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Inbound Marketing หรือทดลองใช้ HubSpot ฟรีก่อนซื้อจริง

ตัวอย่าง Inbound Marketing คือ Lead Conversion
ลูกศรสีแดงคือเครื่องมือเปลี่ยนผู้ชมเป็น Lead ในขณะที่ส่วนที่ขีดเส้นใต้สีแดงและ Live Chat คือเครื่องมือในการสร้าง Conversion ช่วยกลุ่มเป้าหมายที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นลูกค้า

ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายที่สนใจแต่ยังไม่ให้ข้อมูลการติดต่อ (ยังไม่นับเป็น Lead) ก็ได้การรับรู้ตัวตนของแบรนด์ HubSpot และเข้าไปอยู่ในใจของกลุ่มเป้าหมายในฐานะผู้ริเริ่มแนวคิด Inbound Marketing Framework

จริงอยู่ที่ Inbound Marketing เป็นเรื่องซับซ้อน แต่แท้จริงแล้ว Inbound Marketing อยู่รอบตัวเราในยุคที่ลูกค้าค้นหาสิ่งที่สงสัยจาก Google และแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องในกระบวนการตัดสินใจซื้อ นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ที่พบได้บ่อยของการทำ Inbound Marketing

  • บริษัทรับทำบัญชีเขียนบทความเกี่ยวกับบัญชีลงเว็บไซต์บริษัท ที่เมื่อลูกค้าหรือผู้ที่กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องบัญชีค้นหาเกี่ยวกับปัญหาด้านบัญชีลูกค้าก็จะพบกับเนื้อหาดังกล่าว และรับรู้ว่ามีบริษัทให้บริการด้านบัญชีบริษัทนี้อยู่ หากลูกค้าคนดังกล่าวต้องการบริการด้านบัญชี สำนักงานบัญชีดังกล่าวก็จะกลายเป็น 1 ในตัวเลือก
  • Finnomena ที่เขียนบทความด้านการลงทุนและถึงคอนเทนต์อื่นเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อทำให้ลูกค้าเข้าใจในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เกิดการรับรู้แบรนด์และความเชี่ยวชาญของแบรนด์ ส่งผลให้ Finnomena กลายเป็นตัวเลือกในใจของผู้ติดตามที่อาจกลายเป็นลูกค้า เมื่อลูกค้าเหล่านั้นนึกถึงการซื้อกองทุน
  • Digital Agency ที่เขียนบทความเกี่ยวกับการทำการตลาดออนไลน์ ในลักษณะเดียวกับ HubSpot
  • ทนายความที่ทำคอนเทนต์ให้ความรู้ด้านกฎหมาย เมื่อผู้ที่มีปัญหาทางกฎหมายค้นหาและพบว่าสำนักงานทนายความดังกล่าวมีความรู้และแก้ปัญหาให้พวกเข้าได้ก็จะเกิดความเชื่อถือ และใช้บริการสำนักงานทนายความดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นบริการการปรึกษาหรือว่าจ้างก็ตาม
  • Software Solution ที่เขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ทำให้ลูกค้าต้องใช้ Software ของพวกเขา เมื่อลูกค้าแก้ปัญหาได้จากบทความดังกล่าว และพบว่าบริการของบริษัท Software Solution ตรงกับปัญหาของพวกเขา ก็มีโอกาสที่กลุ่มเป้าหมายจะซื้อ (โดยเฉพาะในกรณีที่มี Software แบบเดียวกันอยู่น้อย) ซึ่งในกรณีของ HubSpot ก็จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ได้เช่นกัน

ข้อได้เปรียบของ Inbound Marketing

Inbound Marketing เป็นความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ที่เกิดจาการมอบเนื้อหาที่มีคุณค่าเพื่อแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้การมีตัวตนของแบรนด์ในเชิงบวก ในขณะที่การทำ Inbound Marketing ไม่รบกวนลูกค้าที่ไม่ได้ต้องการจะรับรู้เนื้อหา (Content) เนื่องจากลูกค้าเองเป็นฝ่ายที่ถูกดึงดูดเข้ามาผ่านการค้นหา ซึ่งการค้นหาดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของลูกค้าในปัจจุบัน โดยแบบสำรวจของ Google จากกลุ่มเป้าหมาย 20,000 คน พบว่ามากกว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามค้น Google ก่อนซื้อและศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าผ่านทาง YouTube และมากกว่า 50% ใช้ Google ในการค้นหาแบรนด์ใหม่ ๆ

ในทางกลับกัน Outbound Marketing ที่เป็นการโฆษณาเข้าไปหากลุ่มที่น่าจะเป็นเป้าหมายโดยมีเป้าหมายเพียงแค่การเกิด Conversion กับเป้าหมายเพียงบางส่วนและซื้อสินค้า ในขณะที่ Outbound Marketing ทำให้กลุ่มที่ไม่ได้สนใจจะซื้อในขณะนั้นเกิดความรำคาญและเกิดทัศนคติเชิงลบกับแบรนด์ที่ลงโฆษณา ทั้งที่กลุ่มดังกล่าวอาจเป็นลูกค้าในอนาคต

กล่าวคือ ข้อได้เปรียบของ Inbound Marketing คือความเป็นมิตรกับกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจในระยะยาวโดยไม่รบกวนกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและเข้าไปอยู่ในใจเพื่อใช้ประโยชน์จาก Brand Recall และ Brand Recognition ต่อไปในอนาคตหากกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นมองหาสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวกับแบรนด์

ข้อจำกัดของ Inbound Marketing

การทำ Inbound Marketing คือกลยุทธ์ทางการตลาดที่มุ่งเน้นไปที่การส่งมอบเนื้อหาคุณภาพที่สามารถแก้ไขสิ่งที่กำลังเป็นปัญหากับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของแบรนด์ และเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นเป็นลูกค้าในท้ายที่สุด รวมถึงทำให้ลูกค้าพึงพอใจและช่วยให้บอกต่อแบรนด์แบบปากต่อปากต่อไป

จากย่อหน้าดังกล่าวจะเห็นว่ากระบวนการ Inbound Marketing มีขั้นตอนมากมาย และทุกขั้นตอนมีต้นทุนเกิดขึ้นทั้งสิ้น โดยเราสามารถแบ่งต้นทุนที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในการทำ Inbound Marketing ออกเป็น 4 กลุ่ม (ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีค่าใช้จ่ายแยกย่อยตามลักษณะงาน) ได้แก่

  • ต้นทุนในการทำเว็บไซต์ หรือการบริหารช่องทางโซเชียลมีเดีย (หรือทั้ง 2 อย่าง)
  • ต้นทุนในการทำเนื้อหาคุณภาพสูงที่มีคุณภาพ และต้นทุนในการทำ SEO (Search Engine Optimization) เพื่อทำให้เนื้อหาปรากฏอยู่บนหน้าแรกของ Google
  • ต้นทุนในการเปลี่ยน Lead ไปเป็น Customer (รวมต้นทุนเครื่องมือในการทำ Digital Marketing)
  • ต้นทุนในการทำให้ลูกค้าพึงพอใจและบอกต่อด้วยวิธีการต่าง ๆ

ทั้งนี้ คุณอาจบอกว่าคุณสามารถจ้าง Agency ในราคาถูกหรือใช้พนักงานภายในแผนกการตลาด ในกรณีดังกล่าวสิ่งที่ควรระวังคือหากคุณจ้าง Agency ราคาถูกหรือใช้พนักงานที่ขาดความรับผิดชอบ ก็มีโอกาสที่ Agency หรือพนักงานเหล่านั้นจะใช้เนื้อหาและ/หรือรูปภาพที่ละเมิดลิขสิทธิ์มาอยู่ในงานของแบรนด์ ซึ่งนำไปสู่คดีความละเมิดลิขสิทธิ์ที่เสียทั้งเงิน (ค่าเสียหายและค่าทนาย) และเวลา ตลอดจนความเสียหายด้านชื่อเสียงของแบรนด์หากประเด็นดังกล่าวกลายเป็นกระแสสังคมในบางกรณี

นอกจากนี้ ด้วยการที่ Inbound Marketing เป็นสิ่งที่ใช้การดึงดูดในลักษณะรอลูกค้าเข้ามาหาเมื่อมีปัญหา ทำให้บางครั้งอาจต้องรอนานหลายเดือนจึงจะเริ่มเห็นผล (ในขณะที่ต้นทุนเกิดขึ้นแล้ว)

ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้ Inbound Marketing เป็นวิธีการทางการตลาดที่เหมาะกับธุรกิจที่ได้กำไรต่อหน่วยจากสินค้าหรือบริการสูง ในขณะที่เป็นสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อนในการทำความเข้าใจหรือความซับซ้อนในการแก้ปัญหามากในระดับหนึ่ง อย่างเช่น ซอฟต์แวร์ ทนาย บริษัทรับทำบัญชี เอเจนซี่ ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การลงทุน การอบรมในระดับอุตสาหกรรม บริการด้านภาษี ประกัน ธุรกิจที่ปรึกษา ธุรกิจเกี่ยวกับด้านสุขภาพและการแพทย์ และธุรกิจประเภท B2B (Business-to-Business) บางประเภท

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด