Inferior Goods คือ สินค้าด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นสินค้าประเภทหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการซื้อ (Demand) กับรายได้ของผู้บริโภค (Income) จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน ความต้องการซื้อสินค้าประเภท Inferior Goods (สินค้าด้อยคุณภาพ) จะมากขึ้นเมื่อผู้บริโภครายได้ลดลงและความต้องการซื้อจะลดลงเมื่อผู้บริโภครายได้เพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับอุปสงค์ (Demand) ตามปกติ จะเห็นว่า Inferior Goods คือ สินค้าที่มีลักษณะที่ขัดกับพื้นฐานของสินค้าทั่วไปที่เมื่อผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้นผู้บริโภคก็จะยิ่งอยากซื้อสินค้านั้นมากขึ้น
พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้น สินค้าด้อยคุณภาพ หรือ Inferior Goods คือ สินค้าที่คนจะซื้อเยอะขึ้นรายได้ลดลงหรือเมื่อไม่ค่อยมีเงินนั่นเอง โดยสรุป Inferior Goods คือสินค้าที่ความสัมพันธ์ของระดับรายได้ของผู้บริโภค (Income) กับความต้องการซื้อ (Demand) ซึ่งจะสรุปความสัมพันธ์ได้ ดังนี้
ถ้าหากผู้บริโภคมีรายได้สูงขึ้น (Income) ปริมาณการซื้อสินค้า (Demand) ของ Inferior Goods จะลดลง (เพราะมีเงินจึงไม่ต้องพึ่งพาของถูก)
และถ้าหากผู้บริโภคมีรายได้ลดลง (Income) ปริมาณการซื้อสินค้า (Demand) ของ Inferior Goods จะเพิ่มขึ้น (เพราะไม่มีเงิน จึงจำเป็นต้องซื้อของถูกมาใช้อย่างช่วยไม่ได้)
กราฟ Inferior Goods
กราฟ Inferior Goods แสดงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ (Income) และปริมาณความต้องการซื้อสินค้า (Demand) ของสินค้าด้อยคุณภาพหรือ Inferior Goods

กราฟ Inferior Goods เส้นอุปสงค์ (เส้นสีแดง) จะลาดเอียงจากซ้ายลงไปทางขวา (มีค่าความชันเป็นลบ)
จากกราฟจะเห็นว่า ถ้าหากระดับรายได้ (Income) ลดลงจากจุด I2 เหลือจุด I1 (สมมติเดือนละ 20,000 บาทเหลือ 10,000 บาท) ระดับความต้องการของสินค้าด้อยคุณภาพหรือ Inferior Goods จะเพิ่มขึ้นจากจุด D1 ไปเป็นจุด D2
ในทางตรงกันข้าม ถ้าระดับรายได้ของผู้บริโภค (Income) เพิ่มขึ้นจากจุด I1 ไปเป็น I2 ระดับความต้องการสินค้า (Demand) จะลดลงจาก D2 เหลือ D1
Inferior Goods มีอะไรบ้าง
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า Inferior Goods มีอะไรบ้าง ลองมาดูตัวอย่างแบบง่าย ๆ ของสินค้าที่คนจะซื้อมากขึ้นเมื่อรายได้ลดลงที่พบได้ในชีวิตประจำวัน:
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เมื่อมีรายได้ลดลงหรือเงินเหลือน้อยลง เชื่อว่ามีหลายคนที่หันไปบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทนอาหารมื้อแพง ๆ ทำให้ปริมาณความต้องการซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น
สินค้า House Brand หรือ Own Brand ของห้างสรรพสินค้า ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนไปซื้อผงซักฟอกยี่ห้อของห้างที่ราคาถูกกว่า (แทนผงซักฟอกชื่อดังที่เห็นตามโฆษณา) ของผู้ที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ลดลงจนทำให้ต้องประหยัด
TV ขาวดำ (ในสมัยก่อนที่ TV สียังเป็นเรื่องใหม่) ถ้าหากว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่รายได้จะลดลง ผู้บริโภคก็จะหันไปซื้อ TV ขาวดำแทน TV สี ทำให้ปริมาณความต้องการของ TV ขาวดำในขณะนั้นลดลง
นอกจากนี้ ถ้าสังเกตจะพบว่า Inferior Goods หรือ สินค้าด้อยคุณภาพ จะขัดกับพื้นฐานของสินค้าทั่วไป ที่เมื่อผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็จะยิ่งอยากซื้อสินค้านั้น ๆ มากขึ้น
สำหรับสินค้าทั่วไปที่ว่า ในทางเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่า Normal Goods หรือสินค้าปกติ สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Normal Goods ในทางเศรษฐศาสตร์ได้ที่บทความ Normal Goods คืออะไร