GreedisGoods » Economics » เงินเฟ้อ คืออะไร? ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) เกิดจากอะไร

เงินเฟ้อ คืออะไร? ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) เกิดจากอะไร

by Kris Piroj
เงินเฟ้อ คือ ภาวะเงินเฟ้อ ของไทย Inflation คือ

เงินเฟ้อ คืออะไร?

เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นขณะที่มูลค่าที่แท้จริงของเงินลดลง ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) จะทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมของผู้บริโภคไม่สามารถซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิมได้อีก (กำลังซื้อลดลง) ซึ่งการที่อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) เพิ่มขึ้นจะยิ่งทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงส่งผลผู้บริโภคต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิม

ตัวอย่างของเงินเฟ้อ (Inflation) อย่างง่ายคือการที่เมื่อ 5 ปีก่อนเงิน 50 บาทสามารถซื้อข้าวราดแกงได้ 1 จาน แต่ปัจจุบัน 50 บาทไม่พอที่จะซื้อข้าวราดแกง 1 จานได้อีกต่อไปเพราะราคาจานละ 80 บาท จากตัวอย่างจะเห็นว่ากำลังซื้อ (Purchase Power) ของเงิน 50 บาท ณ เวลาปัจจุบันลดลงจากเมื่อก่อนจนทำให้ไม่สามารถซื้อได้เหมือนเดิมนั่นเอง

แม้ว่าเงินเฟ้อ (Inflation) จะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง แต่เงินเฟ้อก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป เงินเฟ้อคือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วในทุกระบบเศรษฐกิจตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพียงแต่ระดับการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยแต่ละประเทศก็จะมีการตั้งอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย (Inflation Targeting) เพื่อควบคุมระดับเงินเฟ้อในประเทศ สำหรับเงินเฟ้อที่เป็นปัญหาคืออัตราเงินเฟ้อที่สูงมากเกินปกติ

โดยเงินเฟ้อคือตัวเลขหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่าประเทศนั้น ๆ มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากแค่ไหนในกรณีที่เป็นเงินเฟ้อที่เกิดจาก Demand Pull (คนมีเงินใช้มากขึ้น) และสะท้อนถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่เป็นภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจาก Cost Push

สาเหตุของเงินเฟ้อ

สาเหตุของเงินเฟ้อ (Inflation) สามารถแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก คือ ความต้องการสินค้าที่มากขึ้น (Demand Pull) และต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Cost Push)

Demand Pull คือ เงินเฟ้อที่เกิดจากการที่ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นในขณะที่สินค้าและบริการเหล่านั้นมีอยู่ไม่เพียงพอ จนส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามกลไกอุปสงค์ อุปทาน (Demand & Supply) ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคมีเงินใช้มากขึ้นเพราะเศรษฐกิจดีมาก และการที่มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

Cost Push คือ เงินเฟ้อที่เกิดจากการที่ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (ทำให้ผู้ขายต้องขึ้นราคาสินค้า) ซึ่งทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าลดลงไปโดยปริยาย

ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อ คือ สิ่งที่จะทำให้กำลังซื้อของเราลดลงหรือมูลค่าที่แท้จริงของเงินลดลง ทั้งหมดส่งผลให้ผู้บริโภคจำเป็นจะต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิม โดยผลกระทบของเงินเฟ้อที่สามารถเห็นได้เป็นรูปธรรม ได้แก่

  • ค่าครองชีพสูงขึ้น จากราคาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้น
  • ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้น จากการที่สินค้าที่เป็นวัตถุดิบของสินค้าอีกชนิดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าขั้นสุดท้าย
  • มูลค่าที่แท้จริงของเงินลดลง ทำให้การปล่อยเงินทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่ลงทุน จะทำให้ในอนาคตเงินก้อนนั้นจะไม่สามารถซื้อสินค้าได้เท่าเดิมอีกต่อไป

นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ คือ ผู้ที่ต้องรับเงินในอนาคตโดยที่เงินที่จะได้รับไม่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น A ติดหนี้ Z เป็นเงิน 1,000,000 บาท

โดย Z ตกลงว่าจะจ่ายคืนใน 6 ปีข้างหน้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป 6 ปี อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น 10% หรือของที่ซื้อได้ในราคา 100,000 เมื่อ 6 ปีก่อน ปัจจุบันต้องใช้เงิน 1,100,000 บาท แต่หนี้ที่ A ต้องใช้ Z ก็คือ 1,000,000 เท่าเดิม จะเห็นว่า Z เสียผลประโยชน์จากการขาดทุน 100,000 บาทเมื่อเทียบเงินจำนวนดังกล่าวเป็นกำลังซื้อ

หรืออธิบายให้เห็นภาพกว่านั้นก็คือถ้า A ไม่ให้ Z ยืมเงินเมื่อ 6 ปีก่อน ณ เวลานั้น A จะสามารถใช้เงิน 1 ล้านบาทซื้อ 1 คันได้พอดี แต่จากตัวอย่าง A ให้ Z ยืมเงินจำนวนดังกล่าวไป เมื่อ A จะซื้อรถในปัจจุบันก็พบว่า 1 ล้านนั้นไม่พอที่จะซื้อรถรุ่นเดิมที่ราคาเพิ่มขึ้นไปตามอัตราเงินเฟ้อได้อีกต่อไปแล้ว

หน่วยงานที่ดูแลเงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อ คือ เรื่องของระดับราคาสินค้าและเงินในระบบเศรษฐกิจ หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูและรับมือภาวะเงินเฟ้อแต่ละประเทศจึงเป็นธนาคารกลาง (Central Bank) ของแต่ละประเทศผ่านการเครื่องมือทางการเงินอย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายและนโยบายทางการเงินอื่นๆ และกระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) ที่จะเข้ามาดูแลเงินเฟ้อที่ผิดปกติด้วยมาตรการควบคุมราคาสินค้า

ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) จะสามารถติดตามได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index หรือ CPI) ของแต่ละประเทศที่มักจะประกาศออกมารายเดือน

โดยตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศไทยจะประกาศทุกเดือน โดยสามารถติดตามประกาศตัวเลขเงินเฟ้อได้จากหลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) และกระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) ซึ่งมีสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเป็นหน่วยงานที่ดูแลและจัดทำข้อมูลเงินเฟ้อ

บทความที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด