GreedisGoods » Investment » ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก คืออะไร? สรุปภาษีเงินฝากใครต้องจ่าย

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก คืออะไร? สรุปภาษีเงินฝากใครต้องจ่าย

by Kris Piroj
ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก คือ ภาษี ดอกเบี้ยเงินฝาก ไม่เกิน 20000 บาท หัก ณ ที่จ่าย เงินฝาก

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก คืออะไร?

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก คือ ภาษีที่เก็บจากรายได้ที่เกิดจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งจะยกเว้นภาษีในส่วนอัตราดอกเบี้ย 20,000 บาทแรกของทุกบัญชีรวมกัน และส่วนที่เกินจาก 20,000 บาทจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

ดังนั้น ถ้าหากดอกเบี้ยขอองทุกบัญชีรวมกันที่ได้รับในแต่ละปีภาษีไม่ถึง 20,000 บาท หรือเงินฝากรวมกันทุกบัญชีรวมกันไม่ถึงประมาณ 4 – 5 ล้านบาท (ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยในแต่ละช่วงเวลา) ก็จะไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

โดยในปัจจุบัน ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพากรที่ได้มีการปรับปรุงภาษีดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับ 344

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากแบบเก่า

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นสิ่งที่ในความเป็นจริงเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมามีช่องโหว่ทางกฎหมายที่ถูกนำไปใช้ทำให้สามารถเลี่ยงภาษีดอกเบี้ยเงินฝากได้แม้ว่าจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท จากการที่กรมสรรพากรไม่มีข้อมูลของทุกธนาคาร

นั่นหมายความว่ากรมสรรพากรไม่มีทางรู้ได้ว่าแต่ละคนมีเงินฝากรวมอยู่ทั้งหมดเท่าไหร่หรือได้ดอกเบี้ยเงินฝากเท่าไหร่ต่อปี

ตัวอย่างเช่น ถ้าหากนายรวยมากมีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีธนาคาร 20,000,000 บาท โดยที่ดอกเบี้ยเงินฝากของทุกธนาคารคือ 0.5% ช่องว่างในการเลี่ยงภาษีดอกเบี้ยเงินฝากแบบเก่า สามารถได้ใน 2 ขั้นตอน คือ

  1. เริ่มจากปิดบัญชีที่ดอกเบี้ยจะถึง 20,000 บาท เพื่อไม่ให้เสียภาษีดอกเบี้ยหัก ณ ที่จ่าย 15% เพราะดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท
  2. จากนั้นเปิดบัญชีใหม่ โดยแยกเงินออกให้แต่ละบัญชีได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาท

ดังนั้น เพียงแค่นายรวยมากแยกเงินฝาก 20 ล้านบาทออกเป็น 5 บัญชี 5 ธนาคาร บัญชีละ 4 ล้านบาท เท่านี้กรมสรรพากรก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเงินฝากของนายรวยมากมีเท่าไหร่และได้ดอกเบี้ยเงินฝากเท่าไหร่กันแน่

ปัญหาช่องโหว่ของภาษีดอกเบี้ยเงินฝากแบบเดิม จึงนำไปสู่การอัพเดทแก้ไขช่องโหว่ของภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2562 เป็นต้นมา

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน

สำหรับภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีจะไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โดยการที่จะทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้:

  1. ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกันมีจำนวนไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น
  2. ชื่อบัญชีเงินฝากและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝาก ต้องเป็นของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากนั้น
  3. ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก ต้องยินยอมให้ทุกธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากของผู้มีเงินได้ต่อกรมสรรพากร
  4. ผู้มีเงินได้ต้องไม่นำดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ในทางกลับกันในกรณีที่ไม่ยินยอมตามข้อ 3 และไม่ทำตามทั้ง 4 ข้อด้านบน ไม่ว่าจะมีดอกเบี้ยจากทุกบัญชีรวมกันเกินหรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ก็จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% โดยอัตโนมัติ

ข้อมูลอ้างอิงจาก: ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับ 344 วันที่ 4 เมษายน 2562

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด