International Strategy คือ กลยุทธ์ข้ามชาติที่บริษัทแม่จะเป็นผู้ควบคุมบริษัทสาขาในทุกประเทศด้วยมาตรฐานเดียวกัน ตามแนวคิดการบริหารบรรษัทข้ามชาติแบบ Ethnocentric โดยบริษัทลูกจะมีหน้าที่เพียงแค่ผลิตสินค้า ทำการตลาด และบริการหลังการขายเท่านั้น
โดยกลยุทธ์ข้ามชาติแบบ International Strategy จะนิยมใช้สำหรับสินค้าหรือบริการที่มีมาตรฐานเดียวกันและเหมือนกันทั่วโลกทำให้ไม่จำเป็นต้องปรับสินค้าให้เข้ากับแต่ละท้องถิ่น และในธุรกิจที่ต้องเก็บความลับทางการค้าที่สำคัญซึ่งบริษัทไม่สามารถถ่ายทอดความรู้หรือให้กับบริษัทลูกได้
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เห็นได้ชัดเจนที่มีกลยุทธ์ในลักษณะ International Strategy ก็คือสิ่งที่ใกล้ตัวใครหลายคนอย่าง iPhone และ iPad โดย Apple นั่นเอง
ข้อดีของ International Strategy ก็คือข้อเสียในตัว เนื่องจากแนวคิดการบริหารบริษัทข้ามชาติแบบ Ethnocentric และการเน้นขายสินค้าที่เหมือนกันหมดทั่วโลกเพราะเน้นความเป็นสากล ทำให้สินค้าไม่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้าได้เหมือนกับกลยุทธ์แบบ Multidomestic Strategy และ Regional Strategy
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียดังกล่าวก็ไม่ได้สำคัญกับสินค้าที่ไม่ได้ต้องการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน เพราะเป็นสินค้าที่มีประโยชน์แบบเดียวกันทั่วโลกอย่าง สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลาย ๆ ชนิด
วิธีดำเนินงานของ International Strategy
อย่างที่บอกว่า International Strategy คือ กลยุทธ์ที่เน้นความเป็นสากลที่ผลิตภัณฑ์ทั่วโลกทั้งหมดเหมือนกัน ทำให้โดยทั่วไปบริษัทที่ใช้กลยุทธ์แบบ International Strategy มีวิธีการดำเนินงานในแต่ละส่วนของห่วงโซ่คุณค่าหรือ Value Chain ดังนี้
กิจกรรมสนับสนุนของ Value Chain (Support Activities) และกิจกรรมหลักของ Value Chain (Primary Activities) ในส่วน Upstream จะถูกควบคุมโดยบริษัทแม่ ซึ่งประกอบด้วย
- Inbound Logistics (โลจิสติกส์ขาเข้า)
- Operations (การผลิตหรือการดำเนินงาน)
- Outbound Logistics (โลจิสติกส์ขาออก)
- Procurement (การจัดซื้อ)
- Technology Development (การวิจัยและพัฒนา)
- Human Resource Management (การจัดการทรัพยากรมนุษย์)
- Firm Infrastructure (กิจกรรมพื้นฐานขององค์กร)
ส่วนบริษัทลูกจะจัดการได้เพียงกิจกรรมหลัก (Primary Activites) ในส่วนของ Downstream ซึ่งประกอบด้วย
- Marketing and Sales (การตลาดและการขาย)
- Services (การให้บริการ)
อย่างไรก็ตาม แม้จะบอกว่าบริษัทลูกสามารถจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากบริษัทแม่ก่อนอยู่ดี
จะเห็นว่าทั้งหมดที่บริษัทแม่จะควบคุมบริษัทสาขาทั่วโลกตามวิธีการดำเนินงานแบบ International Strategy คือ เรื่องเกี่ยวกับการผลิตและเรื่องขององค์กรนั่นเอง หรือพูดง่ายให้เข้าใจง่าย ๆ คือบริษัทแม่ควบคุมทุกอย่างยกเว้นการายและบริการหลังการขาย
บริษัทลูกในแต่ละประเทศตามกลยุทธ์บริหารธุรกิจระหว่างประเทศแบบ International Strategy จะมีหน้าที่เพียงแค่ผลิตตามที่สั่ง เพื่อนำสินค้าไปวางขาย และทำการตลาดเท่านั้น