GreedisGoods » Economics » Inverted Yield Curve คือ อะไร? เกิดขึ้นจากอะไร

Inverted Yield Curve คือ อะไร? เกิดขึ้นจากอะไร

by Kris Piroj
Inverted Yield Curve คือ เส้นผลตอบแทน พันธบัตร รัฐบาล Yield Curve กลับด้าน

มาทำความเข้าใจกันว่า เส้น Inverted Yield Curve คือ อะไร? เกิดขึ้นจากอะไร และแสดงให้เห็นสัญญาณทางเศรษฐกิจอะไรได้บ้าง ทำไมนักลงทุนบางคนถึงใช้ Inverted Yield Curve ทำนายวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น

Inverted Yield Curve คือ เส้นผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ที่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นมีค่ามากกว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว โดยเส้น Inverted Yield Curve จะเป็นด้านตรงข้ามของ Yield Curve ในสภาวะเศรษฐกิจปกติ

เส้น Inverted Yield Curve คือ สิ่งที่เกิดจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่หันไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมากกว่าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจึงทำให้ผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว จากที่ปกติอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสูงกว่าระยะสั้น

ลักษณะของเส้น Inverted Yield Curve เป็นเส้นที่ลาดลงจากซ้ายไปขวา แสดงถึงผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรที่น้อยลงเรื่อยๆ ตามอายุของตราสารหนี้ (Maturity) ยิ่งอายุของพันธบัตรยิ่งยาวผลตอบแทนยิ่งสูง (ตามตัวอย่าง Inverted Yield Curve ในหัวข้อถัดไป)

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนไม่มั่นใจในการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) จึงหันไปเลือกลงทุนในพันธบัตรระยะยาวแทนระยะสั้น

ข้ามไปยังหัวข้อที่ต้องการอ่าน

Yield Curve ในภาวะปกติ

ก่อนจะไปที่ Inverted Yield Curve ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับ Yield Curve และกลไกตลาดพันธบัตรรัฐบาลแบบปกติกันก่อน เพราะจริงๆ แล้ว Inverted Yield Curve คือสิ่งที่เกิดขึ้นและมีเหตุผลตรงข้ามจาก Yield Curve แบบปกติในตลาดที่อยู่ในภาวะปกติ

Yield Curve คือ เส้นที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทน (Yield) เมื่อเทียบกับอายุของตราสารหนี้ (Maturity) โดยในสภาวะเศรษฐกิจปกติ (ที่ไม่เกิด Inverted Yield Curve) ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น เนื่องจากการถือพันธบัตรในระยะยาวมีความเสี่ยงสูงกว่า อีกทั้งนักลงทุนยังต้องทิ้งเงินจมอยู่ในพันธบัตรในระยะเวลาที่นานกว่า

Yield Curve คือ ผลตอบแทนพันธบัตร เส้น Yield Curve กลับด้าน
ตัวอย่าง ลักษณะกราฟ Yield Curve ในภาวะปกติ

การที่ความเสี่ยงสูงส่งผลให้พันธบัตรระยะยาวไม่เป็นที่ต้องการของนักลงทุน จึงทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวที่ออกมาจะสูงกว่าตามกลไกของดอกเบี้ยเงินกู้ (พันธบัตรคือการกู้เงินจากนักลงทุน) เหมือนกับการที่มีคนมาขอกู้เงินของคุณในระยะยาวคุณก็จะต้องการดอกเบี้ยที่สูงกว่าระยะสั้น เนื่องจากการกู้เงินระยะยาวมีความเสี่ยงสูงกว่า จากการที่เราไม่รู้ว่าจะมีความไม่แน่นอนอะไรเกิดขึ้นในอนาคต และเงินลงทุนที่จมอยู่กับพันธบัตรเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ในตลาดรองเมื่อตราสารหนี้ระยะยาวไม่เป็นที่ต้องการก็จะทำให้ราคาซื้อขายของตราสารหนี้ระยะยาวต่ำกว่ามูลค่า Face Value ที่อยู่หน้าตราสารหนี้ในขณะที่ดอกเบี้ยที่ได้รับยังเท่าเดิมจึงทำให้ผลตอบแทนจากการซื้อพันธบัตรสูงขึ้น

อย่างเช่น ตราสารหนี้ หน่วยละ 1,000 บาท ให้ดอกเบี้ย 1% หรือ 10 บาท แม้ว่าคุณจะซื้อต่อพันธบัตรดังกล่าวมาด้วยราคา 900 บาท ดอกเบี้ยก็ยังคงเป็น 10 บาทเท่าเดิม นั่นหมายความว่า Yield หรือผลตอบแทนจากการซื้อต่อในราคา 900 บาทคือ 1.11% (10/900*100) ซึ่งสูงกว่า

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ กราฟ Yield Curve ปกติในสภาวะปกติจะเป็นเส้นที่ชันขึ้นจากซ้ายไปขวา ตามอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามอายุตราสารหนี้ (Maturity) ที่ยิ่งมีระยะยาวยิ่งให้ผลตอบแทน (Yield) ที่สูงขึ้น

Inverted Yield Curve เกิดจากอะไร

ในทางกลับกัน Inverted Yield Curve คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในภาวะที่นักลงทุนไม่เชื่อมั่นสภาวะเศรษฐกิจในเวลาใกล้ นักลงทุนก็จะหันไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาวแทน ทำให้พันธบัตรระยะสั้นไม่เป็นที่ต้องการ เพราะถ้าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงตามที่นักลงทุนคาดการณ์ สิ่งที่ตามมาคือความผันผวนของตลาดทุนและการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง

การถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเอาไว้จะทำให้ แม้ว่าธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยนโยบาย (ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรออกใหม่ลดลงตาม) นักลงทุนก็จะยังมีพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรที่ออกใหม่ในอนาคต ซึ่งนักลงทุนคาดว่าจะมีดอกเบี้ยต่ำกว่าตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง

แต่เมื่อทุกคนต้องการพันธบัตรระยะยาวก็จะทำให้ราคาซื้อขายในตลาดรองสูงขึ้น จนทำให้คุณอาจจะต้องซื้อพันธบัตรมูลค่า 1,000 บาท ดอกเบี้ย 1% (จากตัวอย่างเดิม) มาในราคา 1,100 บาท หรือ ซึ่งทำให้ผลตอบแทน (Yield) ลดลงเหลือ 0.91% (10/1100*100)

ทั้งหมดทำให้ ผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรที่อายุยาวกว่าสูงกว่าพันธบัตรอายุสั้น จนกลายเป็นเส้น Inverted Yield Curve หรือเส้น Yield Curve กลับด้านจากสภาวะตลาดในช่วงปกติ ตามภาพกราฟ Inverted Yield Curve ด้านล่าง

Inverted Yield Curve คือ เส้น กราฟ Inverted Yield Curve ผลตอบแทน พันธบัตร รัฐบาล
ตัวอย่าง กราฟ Inverted Yield Curve ที่เกิดจากการที่ผลตอบแทนระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว

สรุปให้ง่ายกว่านั้น Inverted Yield Curve ก็คือสถานการณ์ที่ผลตอบแทนพันธบัตรผิดไปจากปกติตามชื่อ (Inverted Curve) จากปกติที่ผลตอบแทน (Yield) ในการนำเงินไปทิ้งไว้ในพันธบัตรนานกว่าควรจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าเพราะเงินจมนานกว่าความเสี่ยงมากกว่า แต่กลับกลายเป็นว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นกลับสูงกว่าเนื่องจากคนแห่ซื้อพันธบัตรระยะยาวและไม่มีใครต้องการพันธบัตรระยะสั้นจนทำให้พันธบัตรระยะสั้นอัตราผลตอบแทนดีดขึ้นมา

และเมื่อนำตัวเลขผลตอบแทน (Yield) ในช่วงที่ผิดปกติมาพลอตเป็นกราฟก็จะได้เป็นกราฟที่ลาดลงจากซ้ายลงมาขวา (กราฟที่ 2) ที่เราเรียกว่า Inverted Yield Curve แทนที่จะชันขึ้นจากซ้ายขึ้นไปขวาแบบกราฟที่ 1

กราฟ Inverted Yield Curve บอกอะไร

อย่างที่บอกว่า Inverted Yield Curve คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนเห็นท่าไม่ดีจึงหันไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ทำให้พันธบัตรระยะยาวให้ผลตอบแทนมากกว่าระยะสั้นจนกลายเป็น Inverted Yield Curve ทำให้เส้น Inverted Yield Curve มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่วิกฤตเศรษฐกิจกำลังมาถึงในเวลาอันใกล้ (เพราะนักลงทุนรู้ตัว จึงรีบย้ายเงินออก)

ทั้งหมดส่งผลให้ Inverted Yield Curve เป็นเครื่องมือที่นักลงทุนจำนวนไม่น้อยใช้ในการทำนายภาวะถดถอยของเศรษฐกิจ (Recession) จากบรรยากาศของตลาดไปโดยปริยาย

ในอดีต Inverted Yield Curve สามารถทำนายจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกาได้ถูกต้องหลายครั้ง (มีน้อยครั้งที่ไม่เกิด Recession จริง) สำหรับครั้งล่าสุดที่ Inverted Yield Curve มาพร้อมภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) คือวิกฤต Subprime ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008 ซึ่ง Inverted Yield Curve เกิดขึ้นปลายปี 2007

แต่สาเหตุที่ทำให้ Inverted Yield Curve กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เกิดจากการที่ล่าสุดเมือวันที่ 23 สิงหาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีสูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ทำให้ความกังวลของการเกิด Recession ครั้งต่อไปในปี 2020 เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจในปี 2020 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Inverted Yield Curve แต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ในครั้งนี้ยังไม่สามารถพูดได้ว่าสามารถทำนายได้


Key Takeaways

  • Inverted Yield Curve คือ เส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่กลับด้านจากปกติ จากการที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นมีค่ามากกว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว
  • เหตุผลที่พันธบัตรระยะสั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าระยะยาวเป็นเพราะนักลงทุนมองว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย จนทำให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ย
  • ในภาวะปกติ (Yield Curve ปกติ) ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะต่ำกว่าระยะยาว
  • จริงๆ แล้วเส้น Inverted Yield Curve ก็คือสิ่งที่เป็นด้านตรงข้ามของ Yield Curve ในภาวะปกติ ทั้งผลตอบแทนของพันธบัตรในแต่ระยะและเหตุผลที่กลับด้านกัน
  • ในอดีตสิ่งที่ตามมาเมื่อเกิด Inverted Yield Curve มักจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

ข้อมูลอ้างอิงจาก: CNBC, The Balance

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด