Jobless Claims คืออะไร?
Jobless Claims คือ ตัวเลขจำนวนผู้ขอสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐอเมริกาของผู้ที่ไม่มีรายได้และมีคุณสมบัติที่จะได้รับสวัสดิการว่างงานภายใต้กฎหมายประกันการว่างงาน โดยตัวเลข Jobless Claim จะประกาศโดยกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Labor) ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 19.30 น. (เวลาไทย)
ประโยชน์หลักของตัวเลข Jobless Claims สำหรับนักลงทุนคือการใช้บอกว่า ณ ช่วงเวลาแต่ละสัปดาห์มีจำนวนผู้ว่างงานรายใหม่กี่คน และมีผู้ว่างงานที่กลับมาขอ Jobless Claims มากกว่า 1 ครั้งอยู่เท่าไหร่ โดยตัวเลข Jobless Claim ที่สูงก็จะหมายความว่ามีผู้ว่างงานอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
Key Takeaways
- Jobless Claims เป็นตัวเลขที่ใช้บอกว่ามีคนว่างงานในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่เท่าไหร่ โดยจะเป็นตัวเลขการว่างงานที่ประกาศออกมารายสัปดาห์
- Jobless Claims จะถูกประกาศออกมาทุกสัปดาห์ในวันพฤหัสบดี เวลา 19.30 น. (ตามเวลาไทย)
- โดยตัวเลข Jobless Claims จะแบ่งเป็น 2 ส่วนที่สำคัญ คือ Initial Jobless Claims ที่เป็นตัวเลขการขอสวัสดิการของผู้ว่างงานรายใหม่ที่เป็นการขอครั้งแรก และ Continuing Jobless Claims ที่เป็นผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องหลังจากขอครั้งแรก
- เมื่อตัวเลข Jobless Claims ออกมาสูง นั่นหมายความว่ามีจำนวนผู้ว่างงานที่สูง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การที่ Jobless Claims ถูกประกาศออกมารายสัปดาห์ ทำให้ Weekly Claims หรือ Weekly Jobless Claims คืออีกชื่อเรียกของ Jobless Claims ที่เราอาจเห็นได้ตามข่าวเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
Initial Jobless Claims
Initial Jobless Claims คือ ตัวเลข Jobless Claims เบื้องต้น ที่เป็นตัวเลขจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานในเบื้องต้น ซึ่งก็คือตัวเลขที่ประกาศออกมาทุกวันพฤหัสบดี เวลา 19.30 น. ที่ได้กล่าวถึงถึงในตอนต้น
โดยจำนวน Initial Jobless Claims หรือ Initial Claims จะไม่รวมถึงการอ้างสิทธิ์ขอสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องหลายสัปดาห์นอกเหนือจากการเรียกร้องครั้งแรก กล่าวคือ Initial Jobless Claims เป็นตัวเลขการขอสวัสดิการว่างงานที่เกิดขึ้นจากจำนวนของผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสัปดาห์นั้น ๆ
ตัวอย่างเช่น Initial Jobless Claims สัปดาห์ที่ 1 มีทั้งหมด 1 แสนคน และสัปดาห์ที่ 2 มีทั้งหมด 3 แสนคน หมายความโดยรวม 2 สัปดาห์มีผู้ขอสวัสดิการว่างงานไปแล้วทั้งหมด 4 แสนคนนั่นเอง
Continuing Claims
อย่างที่บอกว่า Initial Jobless Claims หรือ Initial Claims จะไม่รวมถึงการอ้างสิทธิ์ขอสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องหลายสัปดาห์ แต่จำนวนของผู้ที่ขอสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องมากกว่า 1 สัปดาห์จะถูกนับรวมอยู่ในตัวเลข Continuing Claims
การที่ Continuing Claims ไม่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะสะท้อนถึงแนวโน้มของการที่การจ้างงานยังไม่กลับมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (จนทำให้ผู้ว่างงานต้องกลับมาขอสวัสดิการว่างงานต่ออ)
Jobless Claims บอกอะไร
ไม่ว่าจะในบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจ รือ GDP สิ่งที่เป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจ คือ “การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน” และแน่นอนว่าสิ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อก็คือการจ้างงาน
Jobless Claims จึงเป็นตัวเลขที่นักลงทุนนิยมใช้ประเมินสภาพตลาดแรงงานควบคู่ไปกับ Nonfarm Payroll หากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์มีจำนวนที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ (หรือสูงกว่าคาดการณ์ของตลาด) นั่นหมายความว่าการจ้างงานในตลาดแรงงานลดลง โดยอาจเป็นผลจากการชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจที่มองว่าตลาดในเวลานั้นไม่น่าลงทุน
ในทางกลับกันถ้าหากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงหมายความว่าตลาดแรงงานเกิดการจ้างงานที่มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการลงทุนในภาคธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น อธิบายให้ง่ายกว่านั้นยิ่งสุขภาพของตลาดแรงงานดี (การจ้างงานสูง) เศรษฐกิจก็จะยิ่งดี เพราะการที่คนมีงานทำมากขึ้น นั่นหมายถึงรายได้และการใช้จ่ายในส่วนของการบริโภคส่วนบุคคลของ GDP ยิ่งสูงขึ้น
อีกความสำคัญของ Initial Jobless Claims คือการที่เป็นตัวเลขการจ้างงานที่ออกมาเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับตัวเลขการจ้างงานตัวอื่น ๆ ทำให้นักลงทุนนิยมใช้ตัวเลข Initial Jobless Claims เป็นตัวเลขสะท้อนสภาพตลาดแรงงานในระยะสั้น อย่างเช่นในช่วงโควิด-19 ที่เริ่มล็อคดาวน์ ตัวเลข Initial Jobless Claims จะสะท้อนออกมาให้เห็นทันทีว่ามีคนว่างงานเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ อีกการใช้ประโยชน์ตัวเลข Jobless Claims คือการใช้ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ 4 สัปดาห์มาเฉลี่ย เพื่อใช้เป็นตัวเลขอัตราว่างงานเป็นรายเดือนเพื่อดูภาพใหญ่ของภาคแรงงานสหรัฐว่าเป็นอย่างไร
จุดบอดของตัวเลข Jobless Claims
แม้ว่า Initial Jobless Claims คือตัวเลขที่สะท้อนการจ้างงานที่ออกมาเร็วที่สุด แต่ตัวเลข Initial Jobless Claims ยังคงมีจุดบอดที่สำคัญคือ ความคลาดเคลื่อนจากความล่าช้าของการยื่นขอสวัสดิการว่างงาน เพราะการขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐอเมริกายังคงใช้ระบบแบบเก่าอย่างระบบกระดาษ
เมื่อเกิดการขอสวัสดิการว่างงานเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์อย่างในช่วงโควิด เป็นธรรมดาที่จะกลายเป็นคอขวดจนเกิดความล่าช้า ทำให้มีผู้ที่ตกงานในสัปดาห์ที่ 1 แต่ก็ยังคงขอสวัสดิการว่างงานไม่ได้ในสัปดาห์ที่ 1 จนตกค้างและขอได้ในสัปดาห์ต่อๆ ไป จนส่งผลให้ตัวเลขสัปดาห์ต่อๆ ไปมีความคลาดเคลื่อน
สำหรับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นคือ ตัวเลข Nonfarm Payroll ที่เป็นตัวเลขการจ้างงานรายเดือนของสหรัฐฯ ออกมาสวนทางกับตัวเลข Initial Jobless Claims โดยตัวเลข Nonfarm Payroll ในเดือนพฤษภาคม 2563 เป็นบวก ในขณะที่ Jobless Claims ในสัปดาห์เดียวกันกับที่ประกาศ Nonfarm Payroll ยังคงเป็นลบอยู่
สาเหตุที่ตัวเลขการขอสวัสดิการว่างงานหรือ Jobless Claims ยังคงเป็นลบอยู่ แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payroll) เป็นบวก เป็นเพราะจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มคือจำนวนที่ยังคงค้างมาจากสัปดาห์ก่อนๆ
จุดสูงสุดของ Jobless Claims
ตัวเลข Jobless Claims ที่เคยสูงสุดก่อนหน้านี้คือประมาณ 600,000 คน ในช่วงวิกฤตซับไพรม์เมื่อปี 2008 แต่สำหรับตัวเลข Jobless Claims ที่เป็นจุดสูงสุดปัจจุบันคือ Jobless Claims ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 โดยในสัปดาห์ดังกล่าวตัวเลข Initial Jobless Claims ที่ประกาศออกมาคือ 6.64 ล้านคน
สาเหตุที่ทำให้ Initial Jobless Claims สูงถึง 6.64 ล้านคน เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการปลดพนักงานของธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเปิดบริการได้เช่นเดียวกับที่เกิดกับทั่วโลก
สำหรับใครที่เป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกาที่มีสิทธิจะได้รับสวัสดิการว่างงานภายใต้กฎหมายประกันการว่างงาน สามารถอ่านเงื่อนไขการยื่นขอสวัสดิการว่างงานได้ที่ How Do I File for Unemployment Insurance?