Joint Venture คืออะไร?
Joint Venture คือ กิจการร่วมค้า เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง 2 บุคคลขึ้นไปด้วยเงินทุน ทรัพย์สิน แรงงาน เทคโนโลยี หรือปัจจัยอื่น เพื่อประกอบธุรกิจร่วมกันตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) รวมถึงร่วมกันรับผิดชอบและแบ่งผลกำไรขาดทุนระหว่างกัน
กิจการร่วมค้า (Joint Venture) เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นด้วยตั้งบริษัทใหม่ (Incorporate Joint Venter : IJV) ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกมาจากจากผู้ถือหุ้นหรือบริษัทที่ร่วมลงทุน หรือเป็นสัญญา Joint Venture ก็ได้ (Unincorporate Joint Venter : UJV) ที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
ทั้งนี้ การร่วมทุนใน Joint Venture อาจจะเป็นเพียงการร่วมกันในระยะสั้นเพียงแค่โครงการเดียวหรือร่วมมือกันในระยะยาวก็ได้
โดยทั่วไปเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการ Joint Venture ระหว่างบริษัท คือ สิ่งที่มักจะเกิดจากการที่โครงการที่ร่วมทุนกัน Joint Venture นั้นเป็นโครงการที่ใหญ่เกินกว่าจะสามารถทำได้ด้วยบริษัทเดียว หรือเป็นโครงการที่ต่างฝ่ายต่างต้องการความสามารถของอีกฝ่ายมาช่วยให้โครงการสำเร็จลุล่วงไปได้
กล่าวคือ Join Venture ก็คือการที่ธุรกิจตั้งแต่ 2 ธุรกิจขึ้นไปร่วมทุนกัน โดยที่ทุนดังกล่าวไม่จำเป็นที่จะทุนในรูปของตัวเงินเพียงอย่างเดียว เพื่อดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์ที่จัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ผ่านการอาศัยกำลังหรือทรัพยากรจากแต่ละฝ่าย
ด้วยการที่ Joint Venture คือการที่ 2 บริษัทขึ้นไปเข้ามาลงทุนร่วมกันเป็นกิจการร่วมค่า ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า Joint Venture หมายถึง การที่บริษัท 2 บริษัททำการรวมตัวกัน แต่แท้จริงแล้วในกรณีนั้นจะเป็นการควบกิจการ (Merger) ไม่ใช่ Joint Venture แต่อย่างใด
กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ในไทย
ในประเทศไทย กิจการร่วมค้า คือ สิ่งที่ถูกระบุเอาไว้ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฏากรว่า “กิจการร่วมค้า ซึ่งได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น”
นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติกรมสรรพากรได้วางบรรทัดฐานในการพิจารณาเพิ่มเติมเอาไว้ว่าา กิจการร่วมค้า ต้องมีคุณสมบัติเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
- มีการร่วมทุนกัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี หรือร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนอันจะพึงได้ตามสัญญาที่ร่วมกันทำกับบุคคลภายนอกหรือ
- ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยระบุในสัญญาว่าเป็นกิจการร่วมค้า หรือ
- ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยสัญญานั้นกำหนดให้ต้องรับผิดร่วมกัน ในงานที่ทำไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนและต้องรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกัน โดยสัญญานั้นไม่ได้แบ่งแยกงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ในประเด็นด้านกฎหมายที่ลึกลงไปกว่านี้ สำหรับบริษัทที่กำลังตัดสินใจในการจัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) แนะนำให้ศึกษาข้อจำกัดและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรึกษาถึงเงื่อนไขอื่น ๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละลักษณะธุรกิจ
การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศด้วย Joint Venture
Joint Venture เป็นวิธีเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ (Mode of Entry) ที่ได้รับความนิยมในกรณีที่ประเทศเหล่านั้นมีข้อจำกัดด้านกฎหมายในการเข้ามาลงทุนในประเทศ อย่างเช่น การจำกัดการถือหุ้นของบริษัทต่างชาติ และการจำกัดการลงทุนที่เข้มงวดในบางอุตสาหกรรมสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งทำให้บริษัทยากที่จะเข้าไปลงทุนเองได้โดยตรง อย่างในประเทศจีนและประเทศเวียดนาม
การขยายเข้าสู่ตลาดต่างประเทศด้วยวิธี Joint Venture จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดเหล่านั้น โดยการจัดตั้งบริษัทที่เป็นนิติบุคคลขึ้นมาใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทท้องถิ่นที่บริษัทต่างชาติเข้าไปร่วมทุนด้วย
นอกจากนี้ การ Joint Venture ยังถูกใช้ในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ด้วยการหาก่อตั้งกิจการร่วมค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าในต่างประเทศที่บริษัทต่างชาติไม่คุ้นเคยจากบริษัทท้องถิ่น ซึ่งช่วยลดความผิดพลาดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างดีในธุรกิจที่ต้องการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่เข้าใจท้องถิ่นอย่างลึกซึ่งมากพอ
ตัวอย่าง Joint Venture
ตัวอย่างเช่น บริษัท AIC ที่เป็นธุรกิจผลิต CPU คอมพิวเตอร์ และบริษัท GIG ที่เป็นบริษัทผลิต GPU หรือการ์ดจอสำหรับเล่นเกม ทำการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกันเพื่อพัฒนา GPU ที่ติดอยู่กับ CPU (เรียกว่า GPU Onboard) ที่มีประสิทธิภาพเท่า GPU ระดับ High End ที่ต้องซื้อแยก
จากตัวอย่างจะเห็นว่า บริษัทผลิต CPU ต้องพึ่งพาความสามารถของบริษัทผลิต GPU ในขณะที่บริษัทผลิต GPU ก็ต้องการความสามารถของบริษัทผลิต CPU เช่นกัน
นอกจากนี้ สำหรับตัวอย่างบริษัทชื่อดังที่ทำการจัดตั้ง กิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture กันในอดีต ได้แก่
- พันธมิตรความร่วมมือระหว่าง Renault, Nissan, และ Mitsubishi ในปี 1999
- Sony กับ Ericsson ในปี 2001 เพื่อการพัฒนาโทรศัพท์มือถือ
- Siemens AG กับ Nokia ในปี 2007 เพื่อการพัฒนาเครือข่ายสัญญาณมือถือร่วมกัน
- Alibaba กับ Marriott ในปี 2017 เพื่อฐานลูกค้านักท่องเที่ยวจากประเทศจีน
- Starbuck กับ Uni-President Enterprises เพื่อเข้าสู่ประเทศจีน ในปี 2017