Less than Container Load คืออะไร?
Less than Container Load หรือ LCL คือ เงื่อนไขในการบรรจุสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออกสินค้าของผู้ส่งออก โดยการบรรจุสินค้าด้วยเงื่อนไขแบบ Less than Container Load (LCL) เป็นการบรรจุสินค้าของผู้ส่งออกหลายรายในตู้คอนเทนเนอร์ตู้เดียวกัน
ซึ่งเป็นวิธีตรงข้ามกับเงื่อนไขการบรรจุสินค้าแบบ FCL หรือ Full Container Load ที่จะเป็นการบรรจุสินค้าแบบ 1 ตู้ต่อผู้ส่งออก 1 ราย
ผู้ที่ขายพื้นที่ของตู้ Container ให้กับผู้ส่งออกโดยส่วนมากจะเป็น Freight Forwarder ที่จะซื้อระวางเรือและตู้มาในราคาเหมา เพื่อมาหาลูกค้าที่ต้องการโหลดสินค้าแบบ LCL เพื่อขายต่อในรูปแบบของการขายปลีก
ดังนั้นผู้ส่งออกที่ต้องการส่งออกสินค้าด้วยการโหลดแบบ Less than Container Load จึงต้องรู้วิธีคำนวณราคา LCL เพื่อหาค่าระวางในการขนส่ง
วิธีคำนวณราคา LCL
วิธีหาค่าระวางในการขนส่งที่มีเงื่อนไขแบบ LCL ซึ่งโดยมากการขนส่งทางเรือจะคิดในลักษณะนี้ (มีเพียงราคาที่จะต่างกัน) โดยสามารถคำนวณค่าระวางแบบ LCL ได้ใน 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 หา Dimension ของสินค้า
Dimension คือ ขนาดของสินค้า หาจากการวัด กว้าง x ยาว x สูง ของกล่องที่บรรจุสินค้า
ขั้นที่ 2 หาปริมาตรของสินค้า
นำ Dimension ของตัวสินค้า หารด้วย 1,000,000 จะได้ “ปริมาตรของสินค้า 1 กล่อง” มีหน่วยเป็น “ลูกบาศก์เมตร (CBM หรือ M3)” หรือ (กว้าง x ยาว x สูง) ÷ 1,000,000 = ปริมาตรของสินค้า
ในกรณีที่มีหลายกล่องก็นำ จำนวนกล่องที่ขนาดเท่ากัน x ปริมาตรสินค้า จะได้เป็นปริมาตรสินค้ารวม
ขั้นที่ 3 นำปริมาตร x ราคาต่อลูกบาศก์เมตร จะได้เป็นค่าระวางทั้งหมดที่ต้องจ่าย
ตัวอย่าง วิธีหาราคา LCL
บริษัท OV ต้องส่งสินค้า 10 กล่องเท่า ๆ กัน โดยแต่ละกล่องวัด Dimension ได้ 100 x 50 x 70 โดยอัตราค่าระวางอยู่ที่ ลูกบาศก์เมตรละ 20 USD
(100 x 50 x 70) ÷ 1,000,000 = 0.35 ลูกบาศก์เมตร
เมื่อสินค้าที่บริษัทต้องการส่งออกมีทั้งหมด 10 กล่องที่ขนาดเท่ากัน
0.35 x 10 = 3.5 ลูกบาศก์เมตร
ค่าใช้จ่ายในการส่งออกสินค้าแบบ Less than Container Load (LCL) ทั้งหมดจึงจะเท่ากับ 3.5 x 20 = 70 USD
ข้อดี LCL
ข้อดีของการส่งออกสินค้าด้วยการขนส่งเงื่อนไข Less than Container Load หรือ LCL คือ เป็นวิธีที่เหมาะกับการส่งสินค้าจำนวนไม่มาก (และไม่น้อยเกินไป) เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งตู้ Container เพียงคนเดียว การมีเงื่อนไขแบบ LCL จึงช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกสินค้าครั้งละน้อยๆได้โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเหมาตู้ Container คนเดียวทั้งตู้ซึ่งมีค่าใช้จ่ายมหาศาล
ในขณะที่การส่งสินค้าครั้งละมากๆ (แต่ไม่มากพอที่จะเต็มตู้ Container) ก็สามารถส่งได้คุ้มกว่าการใช้บริการ Courier (พวก FedEx DHL) ที่มีต้นทุนสูง
ข้อเสีย LCL
การที่ต้องใช้ตู้ Container ร่วมกับผู้อื่นนั่นหมายความว่าในการบรรจุสินค้าเข้าตู้ Container ก็จะต้องขนสินค้าไปที่ Container Yard (CY) เพื่อบรรจุสินค้า (Load สินค้า) ใส่ตู้คอนเทนเนอร์พร้อมกับคนอื่นๆที่เช่าพื้นที่ในตู้ Container นั้น
ทำให้บางครั้งปัญหาที่ตามมาจากการใช้เงื่อนไข LCL คือ ต้องรอว่างพร้อมกัน และมีค่าใช้จ่ายจากการขนสินค้าไปยัง Container Yard