Less than Container Load หรือ LCL คืออะไร?
Less than Container Load คือ เงื่อนไขการบรรจุสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์รูปแบบหนึ่งของการส่งออกที่จะบรรจุสินค้าของผู้ส่งออกหลายรายที่ส่งออกแบบ Less than Container Load หรือ LCL เหมือนกันลงในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกันเพื่อส่งสินค้าไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามของเงื่อนไขแบบ Full Container Load หรือ FCL ที่จะเป็น 1 ตู้สำหรับผู้ส่งออก 1 ราย
ในทางกลับกันผู้ส่งออกที่ต้องการส่งออกสินค้าด้วยการโหลดแบบ Less than Container Load (LCL) จะต้องซื้อระวางการขนส่งจากผู้ขาย ซึ่งทั่วไปผู้ที่ขายพื้นที่ตู้ Container สำหรับการส่งออกให้กับผู้ส่งออกรายย่อยจะเป็น Freight Forwarder ที่จะซื้อระวางเรือและตู้มาในราคาเหมา เพื่อหาลูกค้าที่ต้องการโหลดสินค้าแบบ LCL และขายพื้นที่ต่อในรูปแบบของการขายปลีก
ดังนั้น ผู้ส่งออกที่ต้องการส่งออกสินค้าด้วยการโหลดแบบ Less than Container Load จึงจำเป็นที่จะต้องรู้วิธีนวณราคา LCL ที่เป็นการหาค่าระวางในการขนส่ง
ข้อดีของ Less than Container Load
ข้อดีของการส่งออกสินค้าด้วยการโหลดสินค้าแบบ LCL หรือ Less than Container Load คือ ประหยัดและเหมาะกับการส่งสินค้าจำนวนไม่มาก (และไม่น้อยเกินไป) เนื่องจาก ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งตู้ Container เพียงคนเดียวในการขนส่งสินค้า การมีเงื่อนไขการขนส่งแบบ LCL จึงช่วยให้ผู้ส่งออกรายย่อยสามารถส่งออกสินค้าครั้งละน้อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเหมาตู้ Container คนเดียวซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง
ในขณะที่การส่งออกสินค้าครั้งละมาก ๆ (แต่ไม่มากพอที่จะเต็มตู้ Container) ก็สามารถส่งออกสินค้าได้คุ้มกว่าการใช้บริการ Courier เช่น FedEx หรือ DHL ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหน่วยสูง
ข้อเสียของ Less than Container Load
ข้อเสียของ Less than Container Load คือการที่ผู้ส่งออกต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ร่วมกับผู้ส่งออกรายอื่นหลายรายในการโหลดหรือบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เดียวกัน นั่นหมายความว่าการบรรจุสินค้าที่จะส่งออกเข้าตู้ Container ก็จะต้องขนสินค้าไปที่ Container Yard (CY) เพื่อบรรจุสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์พร้อมกับผู้ส่งออกรายอื่นที่เช่าพื้นที่ในตู้ Container นั้น
ทำให้บางครั้งปัญหาที่ตามมาจากการใช้เงื่อนไขแบบ Less than Container Load (LCL) คือ การที่ต้องรอผู้ส่งออกทุกคนว่างพร้อมกัน และมีค่าใช้จ่ายจากการขนสินค้าไป Container Yard เพื่อบรรจุใส่ตู้คอนเทนเนอร์
วิธีคำนวณราคา LCL
วิธีหาค่าระวางในการขนส่งที่มีเงื่อนไขแบบ LCL หรือ Less than Container Load ซึ่งโดยส่วนมากในการขนส่งสินค้าทางเรือจะมีวิธีคิดค่าระวางในการขนส่งเหมือน (แต่จะแตกต่างกันเพียงแค่ราคาเท่านั้น)
วิธีคำนวณค่าระวางการขนส่งสินค้าแบบ Less than Container Load (LCL)
- ขั้นแรกหา Dimension ของสินค้า
Dimension คือขนาดของสินค้า ซึ่งสามารถหาได้จากการวัดขนาด กว้าง x ยาว x สูง ของกล่องที่บรรจุสินค้า
- หาปริมาตรของสินค้า
ปริมาตรของสินค้าสามารถหาได้จากการนำ Dimension ของสินค้าหารด้วย 1,000,000 จะได้ปริมาตรของสินค้า 1 กล่อง ซึ่งมีหน่วยเป็น “ลูกบาศก์เมตร (CBM หรือ M3)” หรือ (กว้าง x ยาว x สูง) ÷ 1,000,000 = ปริมาตรสินค้า
- นำปริมาตร x ราคาต่อลูกบาศก์เมตร
จะได้เป็นราคาค่าระวางการขนส่งที่ผู้ส่งออกด้วยการโหลดแบบ LCL ต้องจ่าย
ตัวอย่าง วิธีหาราคา LCL
สมมติว่าบริษัท BBA ต้องส่งออกสินค้า 10 กล่องแบบ Less than Container Load โดยทุกกล่องวัด Dimension ได้ 150 x 70 x 90 ในขณะที่อัตราค่าระวางการขนส่งอยู่ที่ลูกบาศก์เมตรละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้น ปริมาตรสินค้าแต่ละกล่องจะเท่ากับ (150 x 70 x 90) ÷ 1,000,000 = 0.945 ลูกบาศก์เมตร
ค่าใช้จ่ายต่อสินค้า 1 กล่อง คือ 10 ดอลลาร์สหรัฐ x 0.945 ลูกบาศก์เมตร = 9.45 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่สินค้ามีทั้งหมด 10 กล่อง ดังนั้นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการส่งออกสินค้าของบริษัท BBA จะเท่ากับ 9.45 ดอลลาร์สหรัฐ x 10 กล่อง = 94.5 ดอลลาร์สหรัฐ
Full Container Load หรือ FCL คืออะไร?
Full Container Load คือ เงื่อนไขการบรรจุสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์รูปแบบหนึ่งของการส่งออกที่เป็นการบรรจุสินค้าเต็มตู้ ซึ่งเป็นการบรรจุสินค้าที่จะส่งออกใส่ตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเจ้าของคนเดียวใช้ตู้นั้นได้เต็มที่โดยไม่ต้องแชร์ตู้กับผู้ส่งออกรายอื่น หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น Full Container Load หรือ FCL คือการเช่าคอนเทนเนอร์คนเดียวทั้งตู้
ข้อดีของ Full Container Load จึงเป็นความสะดวกของการใช้ตู้คอนเทนเนอร์คนเดียวเพราะมีผู้ส่งออกเพียงเดียวใช้ตู้คอนเทนเนอร์นี้ ทำให้สามารถลากตู้ไปเปิดเมื่อไหร่ก็ได้ ต่างจาก LCL หรือ Less Container Load ที่ต้องรอทุกคนที่ซื้อพื้นที่ของตู้มาเปิดตู้พร้อมกันที่ Container Yard
สำหรับข้อเสียของ Full Container Load คือ เรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าสำหรับการส่งออกสินค้าครั้งละน้อย ๆ เนื่องจากคุณเป็นคนเดียวที่ใช้ตู้นี้ ดังนั้นการใช้การขนส่งแบบ Full Container Load (FCL) จึงเหมาะกับสินค้าชิ้นใหญ่ที่มีราคาสูง หรือสินค้าที่มีจำนวนมากเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนค่าตู้คอนเทนเนอร์