LIBOR คืออะไร?
LIBOR คือ ชื่อย่อของ London Interbank Offered Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยของการกู้ระหว่างธนาคารของตลาด London อ้างอิงจากเงิน 5 สกุลหลักที่มีสภาพคล่องสูง ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ยูโร (EUR) ปอนด์สเตอร์ลิง (GBP) เยน (JPY) และฟรังก์สวิส (CHF)
ความสำคัญของ อัตราดอกเบี้ย LIBOR คือ การเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มักจะถูกนำไปใช้เป็นดอกเบี้ยอ้างอิงในหลายธุรกรรมทางการเงินที่อ้างอิงจากดอกเบี้ยและเงินทั้ง 5 สกุล เช่น Interest Rate Swap และ Currency Swap (ประเทศไทยก็ใช้ LIBOR Rate ในการอ้างอิงเช่นกัน)
นอกจากนี้ LIBOR ยังมักจะถูกนำไปใช้เป็นตัวเลขคาดการณ์แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกล่าง (Policy Rate) และใช้เป็นเครื่องมือในการวัดระดับความเสี่ยงในการกู้ยืมเงิน ซึ่งเราจะอธิบายในส่วนถัดไปว่าทำไม
อัตราดอกเบี้ย LIBOR Rate จะถูกแบ่งออกเป็นหลายระยะเวลา ได้แก่ 1 วัน (ดอกเบี้ยช้ามคืน), 1 สัปดาห์, 1 เดือน, 2 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน, และ 1 ปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ย LIBOR ที่ถูกพูดถึงตามปกติคือ 1 วันหรือดอกเบี้ยกู้ยืมข้ามคืนระหว่างธนาคารและสถาบันการเงิน
โดยสกุลเงินที่มีสภาพคล่องสูงสุดในตลาด London ที่ถูกนำมาคำนวณเป็น LIBOR Rate คือ เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (USD)
ทำไมต้องสนใจ LIBOR Rate
เหตุผลที่ทำให้ LIBOR Rate สำคัญเป็นเพราะ LIBOR คือดอกเบี้ยจากตลาด London ซึ่ง London ถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่มีขนาดใหญ่มาตั้งแต่ในอดีต โดยคาดการณ์กันว่ามูลค่าของเงินที่อ้างอิงกับ LIBOR มีมูลค่ามากกว่า 370 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 เพียงปีเดียว
ทำให้เรียกได้ว่า LIBOR เกี่ยวข้องกับทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในตลาดการเงินหรือไม่ เพราะเงินที่หมุนเวียนและอ้างอยู่อ้างอิงอยู่กับ LIBOR คือ เงินที่หมุนเวียนอยู่ในสถาบันการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร กองทุน บริษัทหลักทรัพย์ และประกันชีวิต
LIBOR Rate บอกอะไร
LIBOR Rate คือ ดัชนีที่มาจากการการกู้เงินระหว่างธนาคารในตลาด London ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก็จะตั้งอยู่บนพื้นฐานความอยากให้กู้เงินเหมือนกับดอกเบี้ยทุกอย่างบนโลกนี้ ที่ยิ่งไม่อยากให้กู้เงินหรือรู้สึกว่าลูกหนี้มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ก็จะยิ่งปรับอัตราดอกเบี้ยสูง
ดอกเบี้ย LIBOR จึงเป็นตัวเลขที่สะท้อนความอยากให้กู้เงินของสถาบันการเงินที่ถือสกุลเงินอ้างอิงว่าในปัจจุบันมีความอยากให้กู้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งความอยากให้กู้หรือไม่อยากให้กู้ก็จะสะท้อนให้เห็นผ่านอัตราดอกเบี้ย LIBOR Rate ในแต่ละช่วงเวลา (ยิ่งดอกเบี้ย LIBOR สูง ยิ่งไม่อยากให้กู้)
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือช่วง วิกฤต Subprime เมื่อปี 2008 ที่อัตราดอกเบี้ย LIBOR สูงขึ้น จากการที่ธนาคารต่างไม่มั่นใจซึ่งกันและกันว่าถ้าหากให้กู้ไปจะได้เงินคืนหรือไม่ เพราะในช่วงนั้นต่างคนต่างไม่รู้ว่าจะมีสถาบันการเงินอะไรที่จะล้มตาม Lehman Brothers และ Bear Stearns ไปอีก

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่นักลงทุนสามารถพิจารณาได้จาก LIBOR Rate คือ ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในความคาดการณ์ของตลาด ถ้าหากตลาดในภาพรวมมองว่าธนาคารกลางกำลังจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) อัตราดอกเบี้ย LIBOR ก็จะปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกันถ้าหากตลาดในภาพรวมมองว่าธนาคารกลางกำลังจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ย LIBOR ก็จะปรับลดลง
อย่างไรก็ตาม การใช้อัตราดอกเบี้ย LIBOR Rate ในการพยากรณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เพราะเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจากมุมมองของคนส่วนใหญ่ในตลาดการเงินเท่านั้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง LIBOR ไม่ได้ถูกใช้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากเมื่อปี 2012 ได้พบการบิดเบือนข้อมูลที่ธนาคารต้องส่งให้คำนวณ LIBOR ด้วยจุดประสงค์แทรกแซงอัตราดอกเบี้ย LIBOR ส่งผลให้ตั้งแต่นั้นมาความน่าเชื่อถือของ LIBOR ลดลงมาโดยตลอด ซึ่งสะท้อนออกมาจากการที่ธุรกรรมในตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้ในแต่ละประเทศที่เคยใช้อัตราดอกเบี้ย LIBOR ได้พัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงพันธบัตรภาคเอกระยะข้ามคืนขึ้นมาเอง ซึ่งสำหรับประเทศไทยเองก็ได้มีการพัฒนาดอกเบี้ยอ้างอิงพันธบัตรภาคเอกระยะข้ามคืนขึ้นมา เรียกว่า THOR หรือ Thai Overnight Repurchase Rate