GreedisGoods » Statistics » กราฟเส้น (Line Graph) และกราฟเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

กราฟเส้น (Line Graph) และกราฟเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

by Kris Piroj
กราฟเส้น คือ Line Graph วิธีอ่าน กราฟเศรษฐศาสตร์

กราฟเส้น คืออะไร?

กราฟเส้น คือ กราฟที่ประกอบไปด้วย 2 ตัวแปร โดยตัวแปรหนึ่งจะอยู่บนแกนตั้งและอีกตัวแปรหนึ่งจะอยู่บนแกนนอน ซึ่งแต่ละจุดบนกราฟเส้นเกิดจากการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ตัวแปร และเมื่อลากเส้นระหว่างแต่ละจุดต่อกันก็จะกลายเป็นเส้นของกราฟเส้น

วิธีอ่านกราฟเส้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการทำความเข้าใจในทฤษฎีและข้อมูลทางธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการลงทุน เพราะกราฟเส้น (Line Graph) เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในโมเดลทางธุรกิจ กราฟเศรษฐศาสตร์ รวมถึงกราฟราคาสินทรัพย์อย่างหุ้นและคริปโทเคอร์เรนซี่

กราฟเส้น คือ วิธีอ่านกราฟเส้น ตัวอย่างกราฟเส้น Line Graph
ตัวอย่าง กราฟเส้นของประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยเส้นที่ลากต่อกันระหว่างจุดในกราฟเส้นจะแสดงให้เห็นแนวโน้มของข้อมูลชุดดังกล่าวหรือทิศทางของข้อมูล

ในตัวอย่างด้านบนจะเห็นว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวคือ 10.3 ล้านคน และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ลดลงเหลือ 6 ล้านคน และกลายเป็น 0 คนตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563

วิธีอ่านกราฟเส้น

วิธีอ่านกราฟเส้น ก่อนอื่นเริ่มจากทำความเข้าใจแต่ละส่วนของกราฟกันก่อน ซึ่งเราจะใช้กราฟอุปทานที่แสดงความความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้ากับประมาณความต้องการขายสินค้าตามกฎของอุปทาน (Law of Demand) เพื่อประกอบตัวอย่าง

เริ่มจากตัวแปรทั้ง 2 ตัวแปรของกราฟเส้นตามที่อธิบายในตอนต้น โดยบริบทของทั้ง 2 ตัวแปรจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่ากราฟนั้นกำลังอธิบายอะไร จากตัวอย่างในแกนตั้งคือราคาสินค้า (Price) และแกนนอนคือปริมาณความต้องการขายสินค้า (Quantity Supplied)

กราฟเส้น วิธีอ่าน กราฟเศรษฐศาสตร์ กราฟ วิธีดูกราฟเศรษฐศาสตร์
ตัวอย่างกราฟเศรษฐศาสตร์ ในที่นี้คือตัวอย่างกราฟ Supply หรือ กราฟอุปทาน

โดยกราฟเส้นที่พบเห็นได้บ่อยจากกราฟเศรษฐศาสตร์จะเป็นกราฟที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวแปร กราฟดังกล่าวจึงเป็นการจับคู่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวแปร ในตัวอย่างคือความสัมพันธ์ระหว่างราคา (Price) กับปริมาณความต้องการขายสินค้า (Quantity Supplied)

จากตัวอย่างจะเห็นว่าที่ระดับราคา P1 ความต้องการขายสินค้าจะอยู่ที่ระดับ Q1 และระดับราคา P2 ความต้องการขายสินค้าจะอยู่ที่ระดับ Q2 และระดับราคา P3 ความต้องการขายสินค้าจะอยู่ที่ระดับ Q3

ซึ่งจุดที่ราคา (Price) กับปริมาณความต้องการขายสินค้า (Quantity Supplied) ตัดกันพอดีก็จะกลายเป็นจุดที่เกิดขึ้นในกราฟเส้น และกราฟเส้นคือสิ่งที่เกิดจากการลากเส้นต่อกันระหว่างแต่ละจุด กลายเป็นเส้นแนวโน้มเหมือนกับเส้นลาดเอียงจากซ้ายขึ้นไปขวาในกราฟตัวอย่างด้านบน

ดังนั้น เมื่ออ่านกราฟความสัมพันธ์ของราคากับความต้องการขายสินค้าในตัวอย่างด้านบน จะแสดงให้เห็นแนวโน้มว่า เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น (Price) ความต้องการขายสินค้าของผู้ขายจะเพิ่มขึ้น (Quantity Supplied)

และในทางกลับกัน หากราคาสินค้าลดลงความต้องการขายสินค้าของผู้ขายก็จะลดลงตามเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดเราเรียกทั้งหมดว่ากฎของซัพพลาย (Law of Supply) นั่นเอง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด