LCR หรือ Liquidity Coverage Ratio คือ หลักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสถาบันการเงินของธนาคารกลาง (Central Bank) โดย Liquidity Coverage Ratio หรือ LCR มีไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง อย่างเช่น วิกฤตการเงิน
อธิบายให้ง่ายกว่านั้น LCR หรือ Liquidity Coverage Ratio ก็คือกฎที่ธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์กันเงินฝากเอาไว้ส่วนหนึ่งเผื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างเช่น คนตื่นตระหนกแห่มากดเงินจนไม่มีเงินพอให้คนที่มากดเงิน
เนื่องจาก สภาพคล่อง (Liquidity) เป็นสิ่งที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน ตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณไปธนาคารเพื่อถอนเงินแล้วธนาคารไม่มีเงิน คุณก็จะกังวลว่าเงินที่ฝากไว้จะหายไปและแน่นอนว่าเรื่องนี้ก็จะมีข่าวออกไป
และเมื่อผู้ที่ฝากเงินกับธนาคารคนอื่น ๆ รู้ข่าวก็อาจจะตื่นตระหนกจนท้ายที่สุดคนแห่กันมาถอนเงินที่ธนาคาร (เพราะคิดว่ารีบมาถอนอย่างน้อยก็น่าจะได้อะไรกลับไปบ้าง) จนท้ายที่สุดออาจทำให้ธนาคารนั้นล้มไปเลยก็ได้จากการที่ไม่มีเงินจ่าย
ถามว่าจริง ๆ แล้วในกรณีตัวอย่าง ธนาคารไม่มีเงินจ่ายจริงหรือไม่? คำตอบคือไม่ เพียงแต่สินทรัพย์เหล่านั้นของธนาคารถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นเพื่อหาผลตอบแทน
ตัวอย่างเช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ เงินกู้ ฯลฯ ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้ต้องใช้เวลาพออสมควรในการเปลี่ยนให้เป็นเงิน ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ทันทีที่ผู้ฝากต้องการถอน (และตามปกติคนก็ไม่ได้แห่มาถอนพร้อมกันในลักษณะนี้)
เป้าหมายของ Liquidity Coverage Ratio
สำหรับเป้าหมายในเบื้องต้นของเกณฑ์ Liquidity Coverage Ratio หรือ LCR ที่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้คือทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่อง (มีเงิน) เพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนในช่วงวิกฤตบางอย่างได้ประมาณ 30 วัน
โดยสถาบันการเงินจะต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ได้แก่
- อัตราส่วน LCR
- ปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งสิ้น
- ประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิใน 30 วัน
พร้อมทั้งอธิบายเกี่ยวกับข้อมูล LCR และการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์บนเว็บไซต์ของธนาคารพาณิชย์ทุก 6 เดือน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้าที่ของธนาคารกลาง (Central Bank) หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่บทความ หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย