ประกันภัยทางทะเล คืออะไร?
ประกันภัยทางทะเล คือ การประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเรือขนส่งสินค้าหรือต่อสินค้าที่ขนส่งทางทะเลที่อยู่ระหว่างการขนส่งในทะเล และประกันภัยทางทะเลอาจคุ้มครองต่อเนื่องไปถึงการขนส่งสินค้าที่ต่อเนื่องจากการขนส่งทางทะเลด้วย
โดยระยะเวลาในการรับประกันของการประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance) จะเริ่มต้นตั้งแต่สินค้าออกจากโกดังสินค้าหรือสถานที่เก็บสินค้าตามที่ได้ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ต่อเนื่องไปจนถึงการเดินทาง และความสิ้นสุดของการรับประกันจะสิ้นสุดลงเมื่อสินค้าถึงที่หมาย
ซึ่งที่หมายในประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance) อาจเป็นโกดังผู้รับสินค้า โกดังปลายทาง สถานที่เก็บสินค้าปลายทางที่ระบุไว้ โกดังหรือสถานที่เก็บสินค้าอื่น ณ ปลายทางที่ระบุไว้ ที่ผู้เอาประกันเลือกเป็นที่เก็บสินค้านอกเหนือเส้นทางขนส่งปกติ
กล่าวคือ การประกันภัยทางทะเล เป็นการรับประกันต่อความเสียหายของสินค้าที่มีการขนส่งทางทะเล และความคุ้มครองยังต่อเนื่องไปถึงการขนส่งทางบกและทางอากาศในกรณีที่เป็นการขนส่งด้วยหลายวิธีร่วมกันที่เรียกว่า Intermodal Transportation
ประเภทของประกันภัยทางทะเล
ประเภทของการประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การประกันภัยตัวเรือ (Hull Insurance) และการประกันภัยสินค้า (Cargo Insurance)
การประกันภัยตัวเรือ (Hull Insurance) คือ ประกันความเสียหายต่อเรือจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น ลมพายุ, เรือเกยตื้น, เรือชนกัน, หรือชนหินโสโครก เป็นต้น และรวมถึงการประกันค่าระวางด้วย
การประกันภัยสินค้า (Cargo Insurance) คือ คุ้มครองสินค้าที่เอาประกันภัยซึ่งอยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเล โดยภัยที่ได้รับการคุ้มครองขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันภัยเลือกซื้อความคุ้มครอง

นอกจากนี้ การประกันภัยทางทะเลหรือ Marine Insurance มีเงื่อนไข คือ ผู้ที่จะเอาประกันภัยได้ต้องมีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุที่จะเอาประกันภัย เช่น เป็นเจ้าของเรือ, เป็นเจ้าของสินค้า, หรือเป็นผู้รับขนส่ง เป็นต้น ผู้ที่เป็นเจ้าของสินค้าขณะเกิดความเสียหายจึงจะมีสิทธิเรียกร้องบริษัทเพื่อรับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ประกันภัยทางทะเล คุ้มครองอะไรบ้าง?
ความคุ้มครองของการประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance) สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่มความคุ้มครอง ได้แก่
ภัยทางทะเล (Peril of the sea) คือ ภัยที่เกิดขึ้นในทะเล ตัวอย่างเช่น ภัยที่เกิดขึ้นจาก พายุ มรสุม เรือจม เรือชน และเรือเกยตื้น
อัคคีภัย (Fire) คือ ภัยที่เกิดขึ้นจากไฟไหม้ โดยจะต้องไม่ใช่ภัยจากความประพฤติผิดของผู้เอาประกัน (จุดเอง) หรือจากการที่ไฟลุกไหม้เองจากธรรมชาติ
การทิ้งทะเล (Jettisons) คือ การทิ้งของบางอย่างทะเลเพื่อทำให้เรือเบาลงในบางเหตุผล อย่างเช่น การที่เรือกำลังจะจมจำเป็นต้องลดน้ำหนักเรือโดยการโยนของทิ้งทะเล
โจรกรรม (Thieves) คือ การที่เรือถูกปล้นปล้นโดยโจรสลัดเพื่อช่วงชิงทรัพย์หรือสินค้าที่ทำการขนส่ง
การกระทำโดยทุจริตของคนเรือ (Barratry) เช่น การเจตนากลั่นแกล้งทุจริต และเจตนาที่ทำให้สินค้าที่ขนส่งเกิดความเสียหาย
ภัยอื่นๆ (Other Peril) ภัยอื่นที่นอกเหนือจากความคุ้มครอง 5 รายการด้านบน ซึ่งในกรณีที่ผู้ทำประกันต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติมอื่นๆ ก็จะต้องชำระเบี้ยประกันภัยในอัตราที่สูงขึ้น
เงื่อนไขและขอบเขตความคุ้มครอง
ประกันภัยทางทะเลในไทย ส่วนใหญ่จะยึดเงื่อนไขและขอบเขตความคุ้มครองตามเงื่อนไขความคุ้มครองที่ใช้ในอังกฤษ โดยจะมีเงื่อนไขความคุ้มครอง 3 ชนิด ซึ่งขอบเขตความคุ้มครองของการประกันภัยทางทะเลจะลดหลั่นลงไปตาม ดังนี้
- Institute Cargo Clauses (A) หรือ ICC(A) คุ้มครองทุกอย่าง (All Risks) ที่ไม่ใช่ข้อยกเว้น (Exclusions)
- Institute Cargo Clauses (B) หรือ ICC(B) ให้ความคุ้มครองโดยมีข้อยกเว้นเพิ่มเติมจาก ICC(A)
- Institute Cargo Clauses (C) หรือ ICC(C) ให้ความคุ้มครองโดยมีข้อยกเว้นเพิ่มเติมจาก ICC(B)
Institute Cargo Clauses (B) หรือ ICC(B) คือ ให้ความคุ้มครองโดยมีข้อยกเว้นเพิ่มเติมจาก ICC(A) โดย ICC(B) แยกความคุ้มครองออกเป็น 3 ลักษณะ
1. ความสูญเสียหรือเสียหาย ซึ่งเป็นผลจากภัยที่ระบุไว้ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสาเหตุที่เป็นตัวการให้เกิดความเสียหาย ได้แก่
- อัคคีภัย หรือ การระเบิด
- เรือ หรือยวดยานประสบเหตุเกยตื้น เกยพื้น จม หรือพลิกคว่ำ
- การคว่ำหรือตกรางของยานพาหนะทางบก
- การชนหรือการโดนกันของเรือ ยวดยาน หรือ ยานพาหนะ กับวัตถุภายนอกใดๆก็ตามนอกเหนือจากกับน้ำ
- การขนถ่ายสินค้าลงที่ท่าใช้หลบภัย
- แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า
2. ความสูญเสียหรือเสียหาย จะต้องมีสาเหตุโดยตรงจากภัยที่ระบุไว้ ได้แก่
- การถูกสละไปอันถือได้ว่าเป็นการสูญเสียเพื่อส่วนรวม
- การถูกทิ้งทะเล หรือ การถูกน้ำซัดตกจากเรือไป
- การที่น้ำทะเล น้ำทะเลสาบ หรือน้ำในแม่น้ำเข้ามาในระวางเรือ หรือยวดยาน หรือเข้ามาในตู้ ลำเลียง, ตู้ยก หรือสถานที่เก็บวางสินค้า
3. ความสูญเสียโดยสิ้นเชิงของหีบห่อใด ซึ่งตกจากเรือหรือตกลงมาในขณะขนขึ้นหรือขนลงจากเรือหรือยวดยาน
Institute Cargo Clauses (C) หรือ ICC(C) คือ ประกันภัยทางทะเลที่มีข้อยกเว้นเพิ่มเติมมาจาก ICC(B) โดยแยกความคุ้มครองออกเป็น 2 ลักษณะ
1. ความสูญเสียหรือเสียหาย ซึ่งเป็นผลจากภัยที่ระบุไว้ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสาเหตุที่เป็นตัวการให้เกิดความเสียหาย ได้แก่
- อัคคีภัย หรือ การระเบิด
- ประสบเหตุเกยตื้น เกยพื้น จม พลิกคว่ำ
- การคว่ำ หรือ ตกรางของยานพาหนะทางบก
- การชนหรือการโดนกันของเรือ ยวดยาน หรือยานพาหนะ กับวัตถุภายนอกใดๆ ก็ตาม นอกเหนือจากกับน้ำ
2. ความสูญเสียหรือเสียหาย จะต้องมีสาเหตุโดยตรงจากภัยที่ระบุไว้ ได้แก่
- การถูกสละไปอันถือได้ว่าเป็นการสูญเสียเพื่อส่วนรวม (General Average Sacrifice)
- การถูกทิ้งทะเล
นอกจากนี้ ในกรณีของสินค้าที่ขนส่งทางอากาศจะใช้ Institute Cargo Clauses (AIR) คือ เงื่อนไขความคุ้มครองทางอากาศที่จะมีเงื่อนไขเหมือนกับ Institute Cargo Clauses (A) และมีเพียงแบบเดียว มีระยะเวลาสิ้นสุดความคุ้มครอง 30 วัน หลังจากที่สินค้าลงจากเครื่องบินที่สนามบินปลายทาง
ข้อยกเว้นที่ไม่คุ้มครอง (Exclusions)
ข้อยกเว้นที่ประกันภัยทางทะเลไม่คุ้มครอง ได้แก่
- การกระทำโดยจงใจของผู้เอาประกันภัย
- การรั่วไหล การขาดหายของปริมาณหรือน้ำหนัก ตามปกติของตัวสินค้า (ของบางอย่างที่ระเหยระหว่างขนส่ง)
- การบรรจุหีบห่อ หรือ การจัดเตรียมที่ไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสม (เสียหายจากการบรรจุเอง)
- ข้อเสียในตัวเองของสิ่งที่ทำประกันภัย
- ความเสียหายจากกรณีเจ้าของเรือ กัปตันเรือ ลูกเรือ เกิดปัญหาทางการเงิน แล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อสินค้า
- ความเสียหายจากการล่าช้าในการขนส่ง
- ความเสียหายจากการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี จากสงครามและต่อเนื่องจากสงคราม
- ข้อยกเว้นเมื่อเกิดการก่อการร้าย
- ความเสียหายจากภัยสงคราม (War Exclusion Clause)
- ภัยนัดหยุดงาน (Strikes Exclusion Clause) พนักงานนัดกันหยุด ทำให้สินค้าเสียหาย
เอกสารที่ใช้ออกกรมธรรม์
กรณีของการส่งออก (Export) ในเบื้องต้นเอกสารที่ต้องใช้ในการออกกรมธรรม์ ประกันภัยทางทะเล ได้แก่ Invoice, Bill of Ladding หรือ Master Airway Bill, Packing List, และ Letter of Credit (ในกรณีที่มี L/C เข้ามาเกี่ยวข้องในการส่งออก)
กรณีของการนำเข้า (Import) ในเบื้องต้นเอกสารที่ต้องใช้ในการออกกรมธรรม์ ประกันภัยทางทะเล ได้แก่ Performa Invoice หรือ Invoice, Bill of Ladding หรือ Master Airway Bill, และ Packing List