ดุลยภาพของตลาด คืออะไร?
ดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium) คือ จุดที่ระดับราคาที่ปริมาณความต้องการซื้อ (Demand) เท่ากับปริมาณความต้องการขาย (Supply) พอดี ในตลาดที่มีความต้องการซื้อ (Demand) กับความต้องการขาย (Supply) เกิดขึ้นและพบกัน
เรียกได้ว่า ดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium) เป็นจุดที่ตลาดอยู่ในจุดสมดุล เพราะกลไกของตลาด (Demand และ Supply) จะค่อย ๆ ปรับระดับราคาสินค้าและปริมาณสินค้าเข้าหาระดับที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตพอใจในจุดที่สมดุล ซึ่งเราเรียกจุดนี้ว่าจุดดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium)
อธิบายให้ง่ายกว่านั้น ให้ลองนึกถึงราคาที่ดินหากระดับราคาที่ดินนี่เจ้าของที่ดินต้องขายสูงกว่าราคาที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่รับได้สำหรับที่ดินในทำเลแบบเดียวกัน (และผู้ซื้อทั้งตลาดไม่ได้รวมหัวกันไม่ยอมซื้อที่ดินในราคาดังกล่าว) เมื่อเวลาผ่านไปก็จะไม่มีใครซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว และเจ้าของที่ดินก็จะเริ่มลดราคาลงเพราะรู้ตัวว่าราคาขายแพงเกินไป
จากตัวอย่างเรียกได้ว่าเป็นการที่ราคาที่ดินกำลังขยับเข้าหาจุดดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium) จากกลไกของตลาด

จากกราฟจุดดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium) จะเป็นจุดที่ระดับราคาที่ปริมาณความต้องการซื้อ (Demand) เท่ากับปริมาณความต้องการขาย (Supply) พอดี ตามที่แสดงในจุด A ที่เส้น Demand และเส้น Supply ตัดกัน
นอกจากนี้ เมื่อเกิดการเคลื่อนที่ของเส้นอุปสงค์ (Demand Shift) และ/หรือการเคลื่อนที่ของเส้นอุปทาน (Supply Shift) จะทำให้จุดที่ปริมาณความต้องการซื้อ (Demand) เท่ากับปริมาณความต้องการขาย (Supply) เปลี่ยนแปลงไป เรียกว่า จุดดุลยภาพใหม่ (New Equilibrium) ตามที่แสดงในกราฟด้านล่างทั้งสองกราฟ
การเคลื่อนที่ของเส้นอุปสงค์ (Demand Shift)
การเคลื่อนที่ของเส้นอุปสงค์ (Demand Shift) คือ การที่เส้นอุปสงค์ในกราฟดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium) ขยับไปทางซ้ายหรือทางขวาจากจุดเดิม ซึ่งมักจะเกิดจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอก (External Factors) ที่เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้มากระทบความต้องการซื้อสินค้า

เส้นอุปสงค์เคลื่อนที่ไปทางซ้าย คือ การที่มีปัจจัยทำให้ความต้องการซื้อสินค้าดังกล่าวลดลง ทั้งที่ราคาสินค้าเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เช่น การที่เนื้อหมูราคาลดลงทำให้ผู้ที่หันมาบริโภคเนื้อไก่กลับไปบริโภคเนื้อหมู จนทำให้ความต้องการซื้อเนื้อไก่ลดลง
เมื่อเส้นอุปสงค์เคลื่อนที่ไปทางซ้ายจากการที่สินค้าดังกล่าวมีความต้องการซื้อลดลงทั้งที่ราคายังคงเดิม จะส่งผลให้เกิดอุปทานส่วนเกิน (Excess Supply) หรือภาวะสินค้าล้นตลาด (Surplus) จะทำให้สินค้าที่ล้นตลาดมีราคาลดลง เนื่องจากผู้ขายจะมีความต้องการขายที่ลดลงตามราคา
ในขณะเดียวกันผู้ซื้อจะต้องการซื้อสินค้าที่ราคาลดลงมากขึ้นเพราะราคาที่ลดลง เมื่อราคาสินค้าลดลงจนระดับความต้องการขายเท่ากับระดบความต้องการซื้อ ก็จะเกิดจุดดุลยภาพใหม่ขึ้นมา
เส้นอุปสงค์เคลื่อนที่ไปทางขวา คือ การที่มีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นที่ต้องการ ในขณะที่ราคาสินค้าไม่ได้เปลี่ยนแปลง เช่น การที่เนื้อหมูราคาแพงขึ้นจนทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคไก่แทน
เมื่อเส้นอุปสงค์เคลื่อนที่ไปทางขวาจากการที่สินค้าดังกล่าวเป็นที่ต้องการในขณะที่ราคาสินค้าไม่ได้เปลี่ยนแปลง จะส่งผลให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน (Excess Demand) หรือภาวะสินค้าขาดตลาด (Shortage) เนื่องจากอยู่ ๆ สินค้าเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งที่ราคาไม่ได้ลดลง
สินค้าที่ขาดตลาดจะทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มเนื่องจากปริมาณสินค้ามีอยู่เท่าเดิมแต่ผู้ซื้อมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ขายต้องการผลิตสินค้าออกมาขายมากขึ้นเนื่องจากในตลาดมีปริมาณความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น แต่การที่สินค้าราคาเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ความต้องการซื้อค่อย ๆ ลดลง และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น จนทำให้ในทายที่สุดความต้องการซื้อจะลดลงจนดุลยภาพใหม่เกิดขึ้นมา
การเคลื่อนที่ของเส้นอุปทาน (Supply Shift)
การเคลื่อนที่ของเส้นอุปทาน (Supply Shift) คือ การที่เส้นอุปทานในกราฟดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium) ขยับไปทางซ้ายหรือทางขวาจากจุดเดิม ซึ่งมักจะเกิดจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอก (External Factors) ที่เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้มากระทบความต้องการขายสินค้า

เส้นอุปทานเคลื่อนที่ไปทางซ้าย คือ การที่มีปัจจัยภายนอกทำให้ความต้องการขายสินค้าลดลง ในขณะที่ราคาสินค้าเท่าเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น นโยบายของรัฐที่ออกมากีดกันสินค้าบางประเภทซึ่งทำให้ต้นทุนในการขายหรือผลิตเพิ่มขึ้น
เมื่อเส้นอุปทานเคลื่อนที่ไปทางซ้ายในขณะที่ราคาสินค้าเท่าเดิม จะส่งผลให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน (Excess Demand) หรือภาวะสินค้าขาดตลาด (Shortage) เนื่องจากอยู่ ๆ สินค้ามีขายน้อยลงทั้งที่ราคาสินค้าเท่าเดิม ซึ่งจะทำให้สินค้าราคาเพิ่มขึ้นจนทำให้ผู้ขายผลิตสินค้าออกมาเพิ่มขึ้น
เมื่อปริมาณสินค้าในตลาดเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่ความต้องการขายเท่ากับระดับเดียวกับราคาที่ผู้ซื้อยินดีที่จะจ่าย ก็จะทำให้เกิดจุดดุลยภาพใหม่ขึ้นมา
เส้นอุปทานเคลื่อนที่ไปทางขวา คือ การที่มีปัจจัยภายนอกทำให้ความต้องการขายสินค้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเท่าเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น นโยบายของรัฐที่ออกมาสนับสนุนสินค้าบางประเภทซึ่งทำให้ต้นทุนในการขายหรือผลิตลดลง
เมื่อเส้นอุปทานเคลื่อนที่ไปทางขวาในขณะที่ราคาสินค้าเท่าเดิม จะทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน (Excess Supply) หรือภาวะสินค้าล้นตลาด (Surplus) และเมื่อสินค้าล้นตลาดจะทำให้สินค้าลดลงจนทำให้ผู้ขายต้องการขายสินค้าลดลง
แต่เมื่อปริมาณสินค้าลดลงจนถึงจุดจนถึงจุดที่ปริมาณความต้องการซื้อเท่ากับปริมาณความต้องการขาย จะทำให้เกิดจุดดุลยภาพใหม่ขึ้นมา