GreedisGoods » Business » Milk Run คืออะไร? ดีกว่าการขนส่งปกติอย่างไร

Milk Run คืออะไร? ดีกว่าการขนส่งปกติอย่างไร

by Kris Piroj
Milk Run คือ การขนส่งแบบ Milk Run โลจิสติกส์

Milk Run คืออะไร?

Milk Run คือ วิธีการขนส่งที่ได้แนวคิดมาจากการส่งนม (Milk Run) ที่เวลาส่งนมในทุกเช้า คนส่งนมจะนำขวดนมเปล่ากลับมาด้วยในขากลับ (พวกขวดแก้วที่ใช้ซ้ำได้) ทำให้ขากลับรถคันดังกล่าวไม่ต้องกลับรถเปล่าให้เสียเที่ยว

สำหรับใครที่ยังนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงรถส่ง Coke หรือ Pepsi แบบฝาจีบที่ขวดแก้วต้องส่งคืน เมื่อของใหม่มาส่งรถคันนั้นก็จะนำขวดเปล่ากลับไปด้วย

ในส่วนของการขนส่งสินค้าแบบ Milk Run คือ เมื่อผลิตสินค้าเสร็จ > ส่งสินค้าออกไป > ระหว่างขากลับก็รับวัตถุดิบจาก Supplier กลับมาด้วย เพื่อนำไปผลิตสินค้าครั้งต่อไป (ตามภาพตัวอย่างด้านล่าง)

ซึ่งผลที่ได้จากการนส่งในลักษณะ Milk Run ก็คือไม่ต้องขับรถเปล่ากลับบริษัทให้เสียค่าน้ำมันแบบไม่ได้ประโยชน์อะไร

การขนส่งแบบ Milk Run

ตัวอย่างรูปแบบการทำงานของ การขนส่งด้วยวิธี Milk Run ที่เริ่มจากส่งสินค้าออกไป และจบด้วยการที่ระหว่างขากลับก็รับวัตถุดิบจาก Supplier กลับมาด้วย

Milk Run คือ การขนส่งแบบ Milk Run วิ่งนม
เส้นทางการขนส่งด้วยวิธี Milk Run

นอกจากตัวอย่างในภาพด้านบน จริงๆ แล้วการส่งสินค้าด้วยวิธี Milk Run อาจมีลูกค้าที่ต้องไปส่งมากกว่า 1 รายก็ได้

โดยอาจจะส่งสินค้าให้ลูกค้าคนที่ 1 แล้วรับวัตถุดิบจาก Supplier คนที่ 1 จากนั้นส่งสินค้าให้ลูกค้าคนที่ 2 เพื่อใช้พื้นที่ว่างรับวัตถุดิบจาก Supplier คนที่ 2 ก็ได้

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตั้งของปลายทางที่จะต้องไปส่งสินค้าและรับวัตถุดิบ

ประโยชน์ของ Milk Run

ลดต้นทุนการขนส่งในการสั่งซื้อวัตถุดิบจาก Supplier เพราะ Supplier ไม่สามารถบวกค่าส่งเข้าไปได้ เนื่องจากบริษัทส่งรถไปรับวัตถุดิบเอง

ไม่มีปัญหาการจราจรคอขวดที่หน้าโรงงาน จากการที่ต้องมีรถของ Supplier มาส่งของเต็มไปหมด ซึ่งการที่รถติดหน้าโรงงานก็จะส่งผลให้วัตถุดิบอื่นๆ มาส่งได้ช้าตามไปด้วย

ทำให้เวลาที่วัตถุดิบจะมาถึงค่อนข้างที่จะแน่นอน ซึ่งเป็นผลที่ตามมาจากเหตุผลก่อนหน้า รวมกับการที่บริษัทเป็นผู้จัดการเรื่องการขนส่งเองทั้งหมด

ไม่เสียเที่ยว จากการที่ทำให้ไม่ต้องขับรถเปล่ากลับโรงงาน

ลดจำนวนสินค้าคงคลัง โดย Milk Run จะช่วยลดสินค้าคงคลัง (Inventory) จากการที่วัถุดิบสามารถมาส่งได้ในเวลาที่แน่นอน ทำให้ไม่ต้องสั่งวัตถุดิบจำนวนมากจาก Supplier มากองไว้

ข้อจำกัดของ Milk Run

ไม่สามารถใช้กับการขนส่งสิ่งที่ต้องการความเชี่ยวชาญหรือต้องระมัดระวัง อย่างเช่น สินค้าที่ต้องใช้รถแบบพิเศษในการขนส่ง สินค้าที่ผู้ขนส่งต้องมีความรู้ในการจัดการที่ถูกต้อง

Supplier ที่จะวนไปรับแต่ละแห่งควรอยู่ใกล้กันในระดับหนึ่ง เพราะถ้าหากสังเกตจากแผนภาพตัวอย่างด้านบนจะเห็นว่า ถ้าหากว่าตำแหน่งที่ตั้งของแต่ละสถานที่ที่ไป ไม่เรียงอยู่ในระดับที่เหมาะสม การใช้วิธีขนส่งแบบ Milk Run จะทำให้เส้นทางการขนส่งวุ่นวายขึ้นพอสมควร

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด