GreedisGoods » International Business » Mode of Entry คืออะไร? การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ทำอย่างไรได้บ้าง

Mode of Entry คืออะไร? การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ทำอย่างไรได้บ้าง

by Kris Piroj
Mode of Entry คือ การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ คือ Mode of Entry ตัวอย่าง

Mode of Entry คือ กลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ เป็นวิธีการสำหรับขยายธุรกิจของธุรกิจระหว่างประเทศที่ต้องการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดย Mode of Entry สามารถทำได้หลายวิธี โดยแต่ละวิธีจะเหมาะสมต่อรูปแบบของธุรกิจที่แตกต่างกัน

สำหรับวิธี การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ หรือ Mode of Entry ที่ได้รับความนิยมจะประกอบด้วย Exporting, Licensing, Franchising, Joint Venture, Contract Manufacturing, และ Turnkey Project วิธีเข้าสู่ตลาดต่างประเทศแต่ละวิธีจะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาเลือก กลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศหรือ Mode of Entry ในเบื้องต้นจะเป็นปัจจัยจาก 3 กลุ่ม คือ

  • ความพร้อมและประสบการณ์ของบริษัทในการทำธุรกิจในประเทศที่จะเข้าไปลงทุน
  • กฎหมายของประเทศที่จะเข้าไป โดยเฉพาะเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทของต่างชาติที่เข้ามาลงทุน
  • ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่จะเข้าไป

Export หรือ การส่งออก

Export คือ การส่งออกสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว จากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง (ด้วยวิธีอะไรก็ตาม) โดยการส่งออกจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ การส่งออกทางตรง (Direct Export) และ การส่งออกทางอ้อม (Indirect Export)

ส่งออกทางอ้อม (Indirect Export) คือ การส่งออกผ่านคนกลาง อย่างเช่น จ้างบริษัทที่รับส่งออก หรือ Freight Forwarder

ส่งออกทางตรง (Direct Export) คือ การส่งออกเอง ด้วยการตั้งส่วนงานส่งออกของบริษัท เหมาะกับบริษัทที่มีประสบการณ์ในการส่งออก

ข้อดีของการส่งออก

  • ใช้เงินลงทุนต่ำ เมื่อเทียบกับการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศหลาย ๆ วิธี
  • ความเสี่ยงต่ำ เพราะสามารถถอนตัวได้ง่ายถ้าส่งออกแล้วเกิดไม่ประสบความสำเร็จ (แค่เลิกส่งออก)

ข้อจำกัดของการส่งออก

  • สินค้าบางอย่างไม่เหมาะกับการส่งออก เช่น สินค้าที่เน่าเสียง่าย หรือทำให้การส่งออกทำให้ต้นทุนสินค้านั้นสูงเกินไป
  • ต้องเจอกับการกีดกันทางการค้าของประเทศที่เราต้องการส่งออกสินค้าเข้าไป ทำให้ต้นทุนของสินค้าสูงยิ่งขึ้นไปอีก

Licensing

Licensing คือ การที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ (Licensor) ให้ใบอนุญาตกับผู้ผลิตรายอื่น (Licensee) เพื่อที่ Licensee นั้นจะได้มีสิทธิ์ในการผลิตที่อยู่ใต้เงื่อนไขสัญญาที่ตกลงกันไว้ ตัวอย่างเช่น ลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน/ตัวละคร

โดยผลตอบแทนที่เจ้าของหรือ Licensor จะได้ เรียกว่า Royalty Fee ซึ่งจะตกลงผลตอบแทนกันที่ประมาณ 2-6% ของมูลค่าที่ Licensee สามารถทำได้

ข้อดีของ Licensing หรือ การมอบใบอนุญาต คือ ความง่ายในการขยายเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ เพราะผู้ให้ Licensing มีหน้าที่เพียงแค่การให้สิทธิ์หรือมอบวิธีผลิตให้ตามที่ตกลงกัน

ข้อดีดังกล่าวเป็นเหตุให้ Licensing เหมาะกับช่วงทดลองตลาดก่อนที่จะเข้าไปทำเอง หรือ กิจการที่ไม่มีความพร้อมในการเข้าไปลงทุนเอง

ข้อเสียของ Licensing คือ การที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องมอบวิธีผลิตให้กับ Licensee ซึ่งถ้าทำสัญญาไม่รัดกุมมากพอหรือไม่ระมัดระวัง Licensee อาจนำความรู้ที่ได้ไป ไปเปิดธุรกิจแข่งกับเรา ทำให้วิธี Licensing มักจะใช้แต่กับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผลิตซับซ้อนหรือไม่มีสูตรการผลิตที่พิเศษ และสิ่งที่เลียนแบบได้ยาก


Franchising หรือ การให้สัมปทาน

Franchising คือ การให้ใบอนุญาต (Licensing) แบบหนึ่งของการค้าปลีกหรือการบริการ โดยผู้ที่ได้รับสัมปทาน (Franchisees) จะต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ผู้ให้สัมปทาน (Franchisor) กำหนดไว้ ตัวอย่าง Franchising ที่เห็นบ่อย ๆ ได้แก่ McDonald KFC ไก่ย่าง 5 ดาว และ 7-11 เป็นต้น

ส่วนใหญ่กิจการที่จะสามารถขายสัมปทานได้ จะต้องมีชื่อเสียงที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในระดับที่ผู้ซื้อ Franchising สามารถเริ่มขายได้ทันทีจากระบบที่พร้อมและชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง

โดยผลตอบแทนที่ผู้ให้สัมปทาน (Franchisor) จะได้รับ คือ Royalty Fee เหมือนกับกรณี License เช่นเดียวกับข้อดีและข้อเสียของ Franchising ที่เหมือนกับ การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศด้วยวิธี Licensing เช่นกัน


Joint Venture

Joint Venture คือ การร่วมทุน จาก 2 บริษัทหรือมากกว่า โดยมีจุดประสงค์หลัก ๆ มาจากเรื่องของกฎหมาย และความต้องการแชร์ความสามารถเพื่อใช้ในการทำโปรเจคที่บริษัทตนเองและอีกฝ่ายไม่มีความเพียงพอจะทำด้วยตนเอง

ข้อดีของ Joint Venture

  • บางประเทศบริษัทต่างชาติไม่สามารถเข้าไปตั้งโรงงานเองได้ 100% จึงต้องเข้าไปในรูปแบบ Joint Venture
  • ได้จุดแข็งจากหุ้นส่วนที่เข้ามาร่วมกิจการ เช่น บริษัทมือถือ ร่วมกิจการกับบริษัทแบตเตอรี่
  • ทำให้คู่แข่งหายไป ด้วยการจับคู่แข่งมารวมกับกิจการของเราเอง
  • ได้ความรู้ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรม กฎหมายท้องถิ่นและอื่น ๆ จากบริษัทที่เราร่วมทุนด้วยทำให้ไม่ต้องเสียเวลาศึกษาแต่แรก ในกรณีที่เข้าไปร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น

ข้อเสียของ Joint Venture

  • อาจเกิดความไม่เข้าใจกัน ระหว่างกิจการที่ร่วมทุน
  • ปัญหาความแตกต่างทางวัฒนธรรม ระหว่างทั้ง 2 บริษัท
  • ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของแนวทางการบริหารและดำเนินงาน ในกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิ์มีเสียงในระดับเท่า ๆ กัน

Contract Manufacturing

Contract Manufacturing คือ สัญญาการจ้างผลิตสินค้า แปลตรงตัวตามชื่อ โดยจะแค่จ้างผลิตเท่านั้น แต่ส่วนอื่นๆอย่างการทำตลาดบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์จะทำเอง

โดยการจ้างผลิตจะใช้เมื่อกิจการไม่พร้อมผลิตเองที่ต่างประเทศ หรือต้องการลดต้นทุนบางอย่าง เช่น ถ้าตั้งโรงงานผลิตเองในต่างประเทศแล้วไม่คุ้มกับกำไร ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง


Turnkey Project

Turnkey Project คือ การรับทำเป็นโครงการแบบเบ็ดเสร็จเป็นการจ้างตั้งแต่เริ่มโครงการไปจนสามารถใช้งานได้ โดยส่วนมากจะเป็นบริษัทที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี การก่อสร้าง และเครื่องจักร

ลูกค้าของ Turnkey Project มักจะเป็นผู้ที่ขาดความสามารถและบุคลากรในด้านนั้น ๆ อย่างบางประเทศที่ไม่มีความรู้ในการสร้างรถไฟฟ้า รัฐบาลก็จะจ้างบริษัทต่างชาติเข้ามาจัดการ ตัวอย่างเช่น การสร้างรถไฟฟ้า เขื่อน โรงงานไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง