ตลาดผูกขาด คืออะไร?
ตลาดผูกขาด คือ ตลาดที่มีผู้ขายเพียงรายเดียวในตลาดและมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสำหรับผู้แข่งขันรายใหม่ ในขณะที่สินค้าหรือบริการดังกล่าวสามารถหาสินค้ามาทดแทนได้ยาก ทำให้ผู้ขายเพียงรายเดียวในตลาดผูกขาด (Monopoly) มีอำนาจเหนือตลาดในการกำหนดราคาสินค้า
ผลลัพธ์ของตลาดผูกขาด (Monopoly Market) คือการที่ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จำกัดหรือไม่มีเลย นอกเสียจากต้องจ่ายราคานั้นหากต้องการสินค้าหรือบริการดังกล่าว
โดยการผูกขาดที่เกิดขึ้นในตลาดผูกขาดสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ของผู้ผูกขาดที่ผู้แข่งขันรายใหม่ยากจะตามทัน, กฎระเบียบหรือข้อบังคับทางกฎหมายในการประกอบธุรกิจ, และอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Barriers to Entry) อื่นในอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นต้น
และในอีกกรณีที่แย่กว่านั้น คือ การใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนจากการประหยัดต่อขนาดในการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อกำจัดคู่แข่งรายใหม่และรายย่อยออกจากตลาดแล้วขึ้นเป็นผู้ผูกขาดในตลาด
การผูกขาดโดยทั่วไปถือว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากอาจทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น นวัตกรรมใหม่ลดลง และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต่ำลงจากการที่ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนแข่งขัน ทำให้โดยทั่วไปรัฐบาลจะจัดการควบคุมราคาไม่ให้สูงกว่าต้นทุนมากเกินไปหรือทำลายการผูกขาดเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและปกป้องผู้บริโภค
ลักษณะของตลาดผูกขาด (Monopoly)
ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปจะอธิบายลักษณะของตลาดผูกขาด (Monopoly) เอาไว้ด้วยเงื่อนไข ดังนี้:
ผู้ขายรายเดียวในตลาด (Monopolist) ทำให้ในตลาดผูกขาดผู้ขายหรือผู้ผลิตมีอำนาจในการเลือกผลิตได้อย่างสมบูรณ์ และกำหนดราคาในระดับที่ทำกำไรได้สูงสุดจากการขาย กล่าวคือ ขายในจุดที่ได้กำไรสูงสุดโดยอาจจะไม่ใช่ราคาสูงสุดก็ได้
เป็นสินค้าที่สามารถหาสินค้าทดแทนได้ยาก หรือไม่สามารถหาสินค้าทดแทนได้ ทำให้ถ้าหากผู้บริโภคต้องการสินค้าเหล่านี้ ก็จะต้องซื้อสินค้าจากผู้ผูกขาดเท่านั้น
มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Barriers to Entry) ทำให้ยากสำหรับผู้แข่งขันหน้าใหม่ที่จะเข้ามาและแข่งขันกับการผูกขาด อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดอาจมาจาก ค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจที่สูง การเข้าถึงทรัพยากรพิเศษ และกฎระเบียบของรัฐบาล
ผู้ผูกขาดเป็นผู้กำหนดราคา ด้วยเงื่อนไขทั้งหมดที่กล่าวมา ส่งผลให้ผู้ผูกขาดสามารถกำหนดราคาสินค้าได้เท่าที่ต้องการ เพราะไม่มีการแข่งขันและไม่มีทางเลือก ไม่ว่าจะผลิตสินค้าออกมาเท่าไหร่ราคาสินค้าก็ยังคงเท่าเดิมไม่เปลี่ยนไป (จนกว่าผู้ผูกขาดจะต้องการเปลี่ยน)
โดยรวมแล้วจะเห็นว่า ลักษณะของตลาดผูกขาด (Monopoly Market) เป็นลักษณะของตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในด้านตรงข้ามของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition Market) อย่างสิ้นเชิง
การผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly)
การผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) คือ การผูกขาดที่เกิดจากจากการที่โครงสร้างตลาดแบบผูกขาด (Monopoly) เหมาะสมมากกว่าในบางอุตสาหกรรม ทำให้การผูกขาดเป็นสิ่งที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งมักจะเกิดกับธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลแต่ผลตอบแทนจากธุรกิจนั้นไม่ได้สูง ส่งผลให้ผู้ลงทุนในธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถคืนทุนจากการลงทุนได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะที่ธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ ทางออกจึงเป็นการดำเนินธุรกิจด้วยการขยายให้ได้การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
โดยการผูกขาดโดยธรรมชาติมักจะเกิดกับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค เช่น การผลิตไฟฟ้า การผลิตน้ำประปา ขนส่งสาธารณะ การกระจายพลังงาน และการกระจายก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ในธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่มีเพียงบริษัทเดียวลงทุนทำท่อส่งก๊าซขนาดใหญ่เพียงเส้นเดียวที่สามารถส่งก๊าซธรรมชาติในปริมาณเท่ากับ 2 ท่อของ 2 บริษัทแยกกัน การลงทุนทำท่อส่งก๊าซขนาดใหญ่เพียงเส้นเดียวจะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการมี 2 บริษัทแข่งกัน
ด้วยเหตุผลในลักษณะเหล่านี้หลายประเทศที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) จึงเลือกที่จะไม่เปิดให้แข่งขันในธุรกิจผูกขาดเหล่านี้เพื่อจำกัดต้นทุนโดยรวมทางเศรษฐกิจที่เสียไป